ผวาจีนกินรวบตลาด RCEP

28 พ.ย. 2563 | 08:48 น.

สภาอุตฯ-สภาผู้ส่งออก ระบุ RCEP มีได้-มีเสีย ฟันธงจีนได้ประโยชน์มากสุด ส่งสัญญาณสมาชิกเตรียมรับมือสินค้าจากแดนมังกรทะลักตีตลาดเพิ่ม จี้เอสเอ็มอีไทยเร่งปรับตัว ใครไม่แข็งแรงมีสิทธิ์ม้วนเสื่อ

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP/ อาร์เซ็ป) ที่มี 20 บท ที่ได้มีการเจรจากันมานาน 8 ปีเต็ม ล่าสุดรัฐมนตรีการค้า 15 ชาติสมาชิก ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 5ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ได้ลงนามความตกลงกันแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 หลังจากนี้จะนำสู่กระบวนการขั้นตอนภายในของแต่ละประเทศก่อนให้สัตยาบัน คาดความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วสุดในช่วงกลางปี 2564

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ความตกลงครั้งนี้จะทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าสู่ตลาด RCEP และสามารถแข่งขันได้มากขึ้น โดยสินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับความตกลงการค้าเสรี(FTA) ที่ไทยมีอยู่แล้วกับ 5 ประเทศคู่เจรจา (ในนามกลุ่มอาเซียนและในระดับทวิภาคี) จากจะมีการเปิดตลาดยกเว้นภาษีใน RCEP ในขณะที่ FTA ที่ไทยมีอยู่ยังคงภาษีไว้ เช่น สินค้าประมง แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด นํ้ามะพร้าว นํ้าส้มอาหารแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป กระดาษ ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เส้นใยเครื่องแต่งกายรถจักร ยานยนต์ เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

RCEP เดินหน้าสะเทือนมะกัน บีบ‘ไบเดน’เร่งคานอำนาจจีน

“จุรินทร์”  Kick Off  RCEP  เร่งส่งสภาฯให้สัตยาบัน

RCEP จะเป็นแต้มต่อ แต่ไม่ใช่ประโยชน์เกิดเองโดยอัตโนมัติ

คลิป เบื้องหลัง RCEP วินาที 15 ประเทศ ลงนามแบบออนไลน์ 

เวียดนามเล็ง 7 กลุ่มสินค้า ได้ประโยชน์จาก RCEP อื้อ

ผวาจีนกินรวบตลาด RCEP

 

ขณะเดียวกัน สินค้าของประเทศคู่เจรจาก็จะมีโอกาสเข้ามาแข่งขันในไทยมากขึ้นเช่นกัน โดยสินค้าที่ไทยเปิดตลาดเพิ่มเติมใน RCEP เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องยนต์ ปลาสดแช่เย็น/ แช่แข็ง ท่อนเหล็ก ผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยเหล็ก เครื่องเพชรพลอยเทียม หินที่ใช้ในการก่อสร้าง กระดาษ หนังสือพิมพ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น อย่างไรก็ดีปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการศึกษาและรับฟังความเห็นเพื่อจัดตั้งกองทุน FTA ที่เป็นกลไกถาวรเพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยา และเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าให้สามรถปรับตัวและมีศักยภาพในการแข่งขันต่อไป

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่ RCEP เป็นเขตการค้าเสรีทีใหญ่ที่สุดในโลก โดย 15 ประเทศสมาชิกมีประชากรรวมกันกว่า 2,200 คน สัดส่วน 30% ของประชากรโลก มีจีดีพีรวมกันประมาณ 30%ของจีดีพี โลก และมีมูลค่าการค้ารวมคิดเป็น 28% หรือ เกือบ 1 ใน 3 ของการค้าโลกที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในกลางปีหน้า มีทั้งข้อดีและข้อที่ต้องระวัง ข้อดีคือ จะมีตลาดที่ใหญ่ขึ้นมีความเสรีในการค้าขาย ในการลงทุน รวมถึงในเรื่องของภาคบริการมากขึ้น โดยสินค้าที่ไทยมีศักยภาพจะมีโอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่นอุตสาหกรรมด้านการเกษตร และอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

ผวาจีนกินรวบตลาด RCEP

                                         เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

“อีกด้านหนึ่งสินค้าใดหรืออุตสาหกรรมใดที่เรายังไม่มีความแข็งแกร่งพอโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ยังไม่ฟื้นจากโควิดก็จะเจอสินค้าจากประเทศผู้เล่นรายใหญ่ โดยเฉพาะจากประเทศจีนที่ มีความได้เปรียบในการแข่งขันมากที่สุดใน RCEP มีโอกาสจะส่งสินค้าเข้ามาขายมากขึ้น รวมถึงจากประเทศอื่นๆ ที่มีต้นทุนที่ถูกกว่าหรือมีนวัตกรรมที่ดีกว่าจะส่งสินค้าเข้ามาตีตลาดเราได้ เพราะฉะนั้นหลาย ๆ อุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวรองรับการแข่งขัน โดยในส่วนของส.อ.ท. คงต้องมีการพูดคุยกัน และมีการทำสำรวจดูว่าถ้าเกิดเขาเข้ามาแล้วจะมีผลกระทบต่ออุตสาห กรรมใดบ้าง ในเชิงบวกและเชิงลบมากน้อยแค่ไหน และเราต้องแก้ไขอย่างไรเพื่อจะได้เตรียมตัว”

 

ผวาจีนกินรวบตลาด RCEP

                                       วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศ ไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การที่จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ซึ่งเป็นรัฐเพื่อนบ้านที่มีปมขัดแย้งด้านประวัติศาสตร์และการทูตได้เข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีเดียวกันเป็นครั้งแรกทำให้จีนอาจได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งนี้ RCEP เป็นการเพิ่มอำนาจในทางการเมืองโลกให้กับจีน แต่ในส่วนของไทยก็จะได้เช่นกันหากสามารถใช้โอกาสจากความตกลงให้เป็นประโยชน์

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 2 ฉบับที่ 3631 วันที่ 29 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม พ.ศ. 2563