สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของคนไทยและต่างชาติทั้งปี 2563 จะมีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 300,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่ขอรับการส่งเสริมมูลค่ากว่า 756,104 ล้านบาท จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้นักลงทุนรายใหม่ ๆ ไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศได้โดยสะดวก อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันอย่างเวียดนามพบว่าเพียง 10 เดือนแรกปี 2563 มีทุนต่างชาติ(FDI)ขอรับการส่งเสริมในเวียดนามถึง 2,100 โครงการ เงินลงทุนกว่า 3.6 แสนล้านบาท ดังนั้นถือเป็นความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการใหม่ ๆ เพื่อดึงการลงทุนในปี 2564 ที่จะมาถึง
ชู 3 ธุรกิจใหม่ดูดลงทุน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน)ปลายเดือนธันวาคมนี้ บีโอไอได้เตรียมนำเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์ โดยบีโอไอได้หารือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และได้เลือก “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” บริเวณถนนโยธี-ราชวิถี พื้นที่รวมประมาณ 2.2 ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นที่นำร่องในระยะแรก จากมีความพร้อมมากที่สุด มีทั้งโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ สถาบันวิจัยทางการแพทย์หลายแห่งเป็นศูนย์รวมบุคลากรด้านสาธารณสุข และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่สามารถดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมให้รวมกันเป็นคลัสเตอร์
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
“เป้าหมายของย่านนวัตกรรมทางการแพทย์นี้เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่ของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นด้านยาและวัคซีน สมุนไพร อุปกรณ์การแพทย์ ชุดตรวจ ไปจนถึงบริการทางการแพทย์ การพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล(Tele-Medicine) และการแพทย์แม่นยำ เป็นต้น โดยบีโอไอเตรียมเสนอสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากสิทธิพื้นฐานเพื่อจูงใจนักลงทุนและกลุ่มสตาร์ตอัพ ด้านสุขภาพให้เข้ามาลงทุนพัฒนาในย่านนวัตกรรมนี้”
ต่อมาคือมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลแบบครบวงจรทั้งผู้พัฒนาและผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ทั้งนี้เป็นผลจากบีโอไอได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลมาเป็นเวลานาน ครอบคลุมทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ การให้บริการแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาโครงสร้างด้านดิจิทัลและ Ecosystem เช่น digital park, data center, cloud services, incubation center, co-working space, maker space เป็นต้น แต่เนื่องจากดิจิทัลเป็นธุรกิจที่มีพลวัตอยู่ตลอดเวลา มีโมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ บีโอไอจึงจะใช้โอกาสนี้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านดิจิทัลให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง โดยจะเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรด้านดิจิทัลมากขึ้น
“โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิด digital transformation (การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้กับทุกภาคส่วนของธุรกิจ) เร็วขึ้น จึงจะใช้จังหวะนี้เร่งส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงกระบวนการผลิต การบริหารคลังสินค้า หรือการบริหารข้อมูลในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศด้วย บีโอไอจึงเตรียมเสนอมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลแบบครบวงจร ทั้งฝั่ง Supply (ผู้พัฒนา) และฝั่ง Demand (ผู้ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ)”
ทบทวน 4 มาตรการเดิม
นอกจากนี้จะมีการพิจารณาทบทวนมาตรการที่จะสิ้นสุดในปี 2563ใน 4 เรื่องคือ มาตรการกระตุ้นการลงทุน, มาตรการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดเอ็ม เอ ไอ, มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจ พิเศษชายแดน 10 จังหวัด และมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากบางเรื่องเป็นมาตรการที่บีโอไอใช้ต่อเนื่องมานาน จึงต้องปรับปรุงรายละเอียดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้ง 4 เรื่องนี้บีโอไออยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอบอร์ดต่อไป
ขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ บอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบหลายมาตรการเพื่อกระตุ้นการลงทุนและเปิดส่งเสริมกิจการใหม่ ๆ เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงสำหรัยประเทศในอนาคต อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตยานพาหนะไฟฟ้า (EV) รอบใหม่ เพื่อสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตสำคัญของอุตสาหกรรม EV ในภูมิภาค หลังจากหมดระยะเวลาการยื่นคำขอรับการส่งเสริมไปตั้งแต่ปี 2561 มาตรการส่งเสริมการลงทุนรถ EV รอบใหม่นี้ ผ่านบอร์ดเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศ
สำหรับการเปิดส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้า (EV) รอบใหม่นี้จะขยายขอบข่ายกว้างขึ้นให้ครอบคลุมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร รถบรรทุก และเรือไฟฟ้า รวมทั้งสถานีชาร์จไฟและชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ที่ครบวงจรสำหรับ EV ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรม EV มีความคึกคักและมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดมากขึ้น และสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตสำคัญของอุตสาหกรรม EV ในภูมิภาค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“บีโอไอ” ชี้ทุนต่างชาติเชื่อมั่นไทยฟุ้ง 96% พร้อมลงทุน
บีโอไอร่วมผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางธุรกิจ Life Science
"บีโอไอ" ดันไทยศูนย์การการแพทย์อาเซียน
สภาอุตแนะเพิ่มบทบาท
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนในไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันหลายด้าน เช่น ขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างแรงงานสูงกว่ากลุ่ม CLMV ขณะที่ความตกลงการค้าเสรี(FTA) ไทยก็มีน้อยกว่าเพื่อนบ้านเช่นเวียดนาม ทำให้เม็ดเงินลงทุนในไทยนับวันลดลง ดังนั้นในการดึงการลงทุนคงต้องเน้นในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี และมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรองรับแทนอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น ขณะที่บีโอไอต้องเพิ่มบทบาทนอกจากดึงการลงทุนในประเทศแล้ว ต้องทำงานเชิงรุกนำพาผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ โดยให้นับเป็นผลงานในการส่งเสริมการลงทุนด้วย
เกรียงไกร เธียรนุกุล
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเร่งเตรียมการเจรจาหลาย FTA เช่น CPTPP, ไทย-สหภาพยุโรป และไทย-สหราชอาณาจักร เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อยังจูงใจให้ต่างชาติมาลงทุนไทยเพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออก จากปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอกับคู่ค้าน้อยมากเมื่อเทียบกับเวียดนามทำให้ทุนย้ายเข้าเวียดนามมากกว่าไทย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 1 ฉบับที่ 3632 วันที่ 3-5 ธันวาคม พ.ศ.2563