รายงานข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ขณะนี้ กทท.ได้เจรจาผลตอบแทนกับกลุ่ม GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งผลการเจรจาเป็นที่สุดแล้ว โดยเอกชนเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐอยู่ที่ 32,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติอยู่ที่ 32,225 ล้านบาท ทั้งนี้ได้นำเสนอผลการเจรจาต่อคณะกรรมการ กทท. ได้รับทราบ
ทั้งนี้ กทท. ได้เสนอผลการเจรจาต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ในผลตอบแทนภาครัฐ ประกอบกับข้อเท็จจริงจากต้นทุนการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้ทำการศึกษาไว้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามประกาศของ สกพอ. เรื่องการประกาศเชิญชวน วิธีการประกาศเชิญชวน วิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือก หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน พ.ศ. 2560 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกได้ดำเนินการประกาศ ในกรณีที่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับตามที่รัฐคาดหมาย หรือไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอขอรับมาตรการสนับสนุนโครงการน้อยกว่าที่รัฐกำหนด ซึ่งระบุไว้ในหลักการของโครงการให้คณะกรรมการคัดเลือกเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนอ เบื้องต้นหน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องนำเสนอผลการเจรจาและจัดทำความเห็นเพื่อใช้ประกอบการนำเสนอผลการเจรจาดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อพิจารณาต่อไป
“สกพอ. ได้รับทราบและได้มีการสอบทานข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยให้ที่ปรึกษาของทาง สกพอ. คือ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอฟเอเอส จำกัด ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนการศึกษาและวิเคราะห์โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F ตามข้อเท็จจริงเรื่องมูลค่าการลงทุนของ กทท. และผลกระทบต่อประมาณการตู้สินค้าจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ร่วมกับ กทท. แล้ว พร้อมสรุปผลการศึกษาเสนอต่อ กทท. ซึ่ง กทท. ได้นำเสนอคณะกรรมการ กทท. ได้รับทราบแล้ว ทั้งนี้กทท. อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเสนอ กพอ. พิจารณาภายในวันที่ 18 ธ.ค.นี้”
อย่างไรก็ตามต้นทุนการลงทุนในส่วนท่าเทียบเรือ F ในส่วนที่ กทท. ลงทุนนั้น และผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) มีผลต่อปริมาณตู้สินค้าที่คาดการณ์ไว้ในอนาคตตามผลการศึกษา ซึ่งเป็นฐานในการคิดคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐคาดหมาย หากมีต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐคาดหมายเช่นกัน