นับถอยหลัง 6 รถไฟฟ้าใหม่กำลังมา หลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM เปิดให้บริการรถไฟฟ้าเฉลิมรัชมงคล สายสีน้ำเงินMRT ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ จากสถานีเตาปูน-สถานีสิรินธร ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2562 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบพร้อมเก็บค่าโดยสารจากสถานีเตาปูน-สถานีท่าพระ ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2563 ให้บริการ38 สถานี รวมระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นวงกลม (Circle Line) เดินทางได้รอบกรุงเทพมหานคร และมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นและระบบขนส่งสาธารณะล้อ เรือ ราง ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมือง ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้โดยสะดวก รวดเร็วและต่อเนื่อง
อีกทั้งยังสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรได้ดียิ่งแล้ว โดยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ณ สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย เขตพระนคร – สถานีรถไฟฟ้าหลักสอง เขตบางแค อย่างเป็นทางการ
ล่าสุด เริ่มมีรถไฟฟ้าเส้นทางสายใหม่ ทะยอยแล้วเสร็จ ขยับวิ่งออกนอกเมืองรับ-ส่งผู้โดยสารเป็นระยะทางไกลขึ้น อีก6เส้นทาง นับถอยหลังวันที่16ธันวาคม นี้ จะมีรถไฟฟ้า 2เส้นทางเปิดให้บริการ ได้แก่ BTSสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตระยะทาง 19กิโลเมตร 16สถานี ซึ่งปัจจุบัน เปิดให้บริการเดินรถถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และเตรียมเปิดอีก 7 สถานี ระยะทาง 9.8กิโลเมตร ได้แก่ 1.สถานีพหลโยธิน 59 2.สถานีสายหยุด 3.สถานีสะพานใหม่ 4.สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 5.สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ 6.สถานีแยก คปอ. และ7.สถานีปลายทางคูคต
ส่งผลให้ BTSสายสีเขียว สามารถให้บริการเดินรถได้เต็มทั้งระบบ ตลอดระยะทาง กว่า68กิโลเมตรจำนวน 59สถานี และ รถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงสถานีกรุงธนบุรี -เจริญนคร –คลองสาน ระยะทาง 1.8กิโลเมตร เป็นรถไฟฟ้า รางเบาล้อยางไร้คนขับ เส้นทางแรกของประเทศไทย มีหน้าที่เชื่อมโยงโครงข่ายในพื้นที่และขนส่งผู้โดยสารป้อนรถไฟฟ้าเส้นทางหลักที่สถานีBTS กรุงธนบุรี เข้าสู่ใจกลางเมืองย่านสาทรฝั่งพระนคร ซึ่งปัจจุบันบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน)หรือ BTSC รับจ้างเดินรถทั้ง2เส้นทาง อย่างไรก็ตามสำหรับสายสีเขียวอยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติขยายสัญญาสัมปทานทั้งระบบ
นอกจากนี้ ยังมีสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร 23 สถานี เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสายสีน้ำเงินที่สถานีรัชดา สถานีลาดพร้าวของสายสีน้ำเงิน มีความคืบหน้าก่อสร้าง 65.9% แน่นอนว่าปลายปี2564 จะเปิดให้บริการได้ เช่นเดียวกับสายสีชมพู ช่วง แคราย-มีนบุรี ระยะทาง34.5กิโลเมตร จำนวน 30สถานี งานโยธาก่อสร้างคืบหน้า66% ปัจจุบันรฟม.ส่งมอบพื้นที่เรียบร้อยแล้วจากการย้ายสถานีมายังบริเวณศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี และได้รับการอนุมัติการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ คาดว่า ระยะแรก จะเปิดให้บริการได้ ต้นปี 2565
มาที่สายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วันธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22กิโลเมตรจำนวน 17สถานี ที่มีความคืบหน้า งานโยธากว่า 71% คาดว่าสามารถเปิดให้บริการเดินรถได้ในปี2567 แต่การเดินรถ ต้องรอเอกชนผู้รับสัมปทาน ทั้งระบบ (สายสีส้มบางขุนนนท์-มีนบุรี) รวมทั้ง งานโยธาสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างว้าวุ่นใจที่ศาลปกครอง แต่ทั้งนี้ โครงการทั้งสองช่วงต้องเชื่อมต่อกัน โดยสายสีส้มตะวันตก ระยะทาง13.9กิโลเมตร จะรับผู้โดยสารจากฝั่งตะวันออก ข้ามไปยังฝั่งธนบุรีรวมถึงโครงข่ายเชื่อมต่อ ที่มีแผนเปิดให้บริการปี 2569 เชื่อว่าคนกรุงจะเดินทางอย่างมีความสุขและสนุกสนานแน่นอน แต่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ในส่วนของสายสีส้มต้อง ช่วยกันลุ้นว่า ใคร!!!จะเป็นผู้คว้าชัย ระหว่าง สองผู้ยิ่งใหญ่ทางราง “BTS VS BEM “ อีกไม่นานได้รู้กัน !!!
หน้า7ฉบับ3632