กระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น(เมติ) มีแผนที่จะตั้งเป้าหมายให้การจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในญี่ปุ่นเปลี่ยนจากการจำหน่ายรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยนํ้ามันทั้งหมด สู่รถยนต์ทางเลือก เช่น รถยนต์ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิง รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และไฮบริดภายในปี 2573 เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำเทรนด์โลกและบรรลุคำมั่นของรัฐบาลที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ขณะที่อังกฤษได้เปลี่ยนกำหนดการห้ามจำหน่ายรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยนํ้ามันเร็วขึ้นจากปี 2583 เป็นปี 2573 และรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯประกาศจะทำให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ภายในปี 2578
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สัญญาณดังกล่าวผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ไทยได้มองเห็นและได้เตรียมรับมือ เพราะเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เนื่องจากมูลค่าตลาดชิ้นส่วนฯสัดส่วน 75-80% ปัจจุบันอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตโออีเอ็มที่บริษัทลูกของค่ายรถญี่ปุ่น รวมถึงผู้ประกอบการไทยทั้งที่เป็น First Tier และSecond Tier ที่เป็นซัพพลายเชนผลิตป้อนให้กับค่ายรถญี่ปุ่นในไทย รวมถึงฐานผลิตที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ เช่นในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และที่เหลืออีก 20% เป็นตลาดอะไหล่ทดแทน(อาฟเตอร์มาร์เก็ต)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์กระทบ จีเอ็มถอนยวง
เปิดกรุสมบัติ!!! แม่ธนาธร "สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ" เจ้าแม่อาณาจักรธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์
บีโอไอจัดหนัก แพ็กเกจดูดลงทุนปี 64 ดันดิจิทัล-รถ EV-การแพทย์ แม่เหล็กใหม่
“แน่นอน เราต้องกระทบแน่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีจำนวนมากที่สุดในไทยจะตั้งฐานผลิต(รถ EV) ไว้ที่ไหน ถ้าไว้ฐานที่เมืองไทย จริง ๆ เขาก็พร้อมและส่งไปที่สหรัฐฯได้ไม่มีปัญหา ขึ้นอยู่ที่ว่าตลาดเขาอยู่ที่ไหน แต่ปัญหาตอนนี้คือดีมานต์รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่ได้เยอะขนาดนั้น แต่ถ้าดีมานต์มาก ค่ายรถญี่ปุ่นทุกคนเขาก็พร้อมที่จะทำตรงนี้อยู่แล้ว เช่นค่ายฮอนด้าก็มีฐานผลิต EV ก็เริ่มทำเป็นโมเดล ๆ นิสสันก็มีนิสสัน Leaf ผลิตที่ญี่ปุ่น แต่สเกลมันยังไม่ได้เยอะมาก ขณะที่ในเมืองไทยจากสเกลทั้งหมดสัดส่วน 60% เป็นปิกอัพกับ MPV ที่เป็นตัวขับเคลื่อนยอดส่งออก ตัวอื่น ๆ ยอดแค่ 30-40% ส่วนรถ EV ยังมีสัดส่วนไม่มาก ดังนั้นตอนนี้เลยยังไม่เห็นภาพ เพราะโครงสร้างทั้งหมดอยู่ที่ค่ายญี่ปุ่นเขาจะไปทางไหน และขึ้นกับในอนาคตว่าอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไปอย่างไร ถ้าตลาดโลกเปลี่ยนไปเขาก็ต้องทำตามตลาดโลกอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ดี หากเทรนด์ตลาดรถยนต์ในอนาคตเปลี่ยนจากรถใช้นํ้ามันที่มีชิ้นส่วนประมาณ 3 หมื่นชิ้นต่อคัน ไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีชิ้นส่วนประมาณ 3,000 ชิ้นมากขึ้น ผู้ประกอบการคงต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และเทคโนโลยีการผลิต เพราะไทยไม่มีเทคโนโลยีและวัตถุดิบด้านนี้เป็นของตัวเอง และการตัดสินใจจะไปต่อหรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นขึ้นกับค่ายรถยนต์เป็นคนกำหนด ทั้งนี้ในอนาคตผู้ประกอบการชิ้นส่วนโดยเฉพาะสายพันธุ์ไทยมีหลายทางให้เลือกเพื่อความอยู่รอด เช่น เดินหน้าต่อไปโดยปรับเปลี่ยนการผลิตป้อนรถยนต์ไฟฟ้า, การปรับตัวสู่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (โรบอท), อุตสาหกรรมการแพทย์, อุตสาหกรรมระบบราง,อุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ หรือยังคงมุ่งตลาดอาฟเตอร์มาร์เก็ตต่อไป
“ปี 2562 ไทยมีการส่งออกชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (รวมยางรถยนต์) มูลค่ากว่า 16,131 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 5 แสนล้านบาท ตลาดหลักที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยุโรป 9 เดือนแรกปีนี้ส่งออก 9,369 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 22% จากผลกระทบโควิด แต่สถานการณ์เวลานี้ปรับตัวดีขึ้นคาดปีหน้าจะกลับมาใกล้เคียงปี 2562 หรือติดลบเล็กน้อย ขณะที่ข้อมูลของสมาคมประเมินร่วมกับสถาบันยานยนต์ กรณีในอนาคตหากรถยนต์ใช้นํ้ามันเปลี่ยนมาเป็นรถ BEV (รถยนต์ที่พึ่งพิงกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว) 100% จะกระทบต่อซัพพลายเชนผู้ผลิตชิ้นส่วนมากกว่า 816 บริษัท หรือหายไปเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการ (ผู้ประกอบการมี 2,086 บริษัท) กระทบจ้างงานมากกว่า 326,400 คนที่ต้องไปทำอาชีพอื่นจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป”
นายปริญญา เขตคาม อุปนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะได้รับผลกระทบแน่ แต่ยังมีเวลาให้ปรับตัวเพราะในข้อเท็จจริงตลาดรถที่ใช้เครื่องยนต์และใช้นํ้ามัน เช่นตลาดแอฟริกา ตะวันออกกลางก็ยังมีอยู่ผู้ประกอบการบางส่วนอาจปรับตัวไปทำตลาดอะไหล่ทดแทนหรืออาฟเตอร์มาร์เก็ตได้ หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 1 ฉบับที่ 3635 วันที่ 13-16 ธันวาคม พ.ศ. 2563