นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด(มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมมือกับ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” (EEC) โดยมีเป้าหมายระยะแรกไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2564-2569 มูลค่าการลงทุนกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ SPCG มีแผนจะขอรับการส่งเสริมการลงทุน หรือ “บีโอไอ” (BOI) เพื่อรับสิทธิยกเว้นและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยคาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จรวมอย่างน้อย 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564 และอีกไม่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 โดยจะทยอยรับรู้รายได้ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 64 เป็นต้นไป
สำหรับโครงการดังกล่าวจะเป็นการลงทุนผ่านบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด ที่ SPCG ถือหุ้นอยู่ 40% ร่วมกับบริษัท มิตซู เพาเวอร์ กรุ๊ป จำกัด ถือหุ้น 40% และ PEA ENCOM ถือหุ้น 20% ซึ่งการดำเนินการนี้จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีแผนดำเนินการไปแล้ว 500 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันได้มีการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้ว 330 เมกะวัตต์ และบริษัทได้ตั้งเป้ารายได้ภายในปี 64-65 ว่าจะสามารถทำรายได้ประมาณ 6 -7 พันล้านบาทต่อปี
นางวันดี กล่าวต่อไปอีกว่า เงินลงทุน 2.3 หมื่นล้านบาทของโครงการนั้น ส่วนหนึ่งจะมาจากการระดมทุนประมาณ 5 พันล้านบาท โดยจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะทำได้สำเร็จ และในส่วนที่เหลือประมาณ 1.7 – 1.8 หมื่นล้านบาท จะมาจากการกู้เงิน โดยโครงการนี้จะเน้นลงทุนในพื้นที่ใกล้กับสายส่งของ กฟภ. เพื่อให้ง่ายต่อการจ่ายไฟ โดยส่วนใหญ่จะเป็นโซลาร์ฟาร์ม ที่ใช้พื้นที่แห่งละ 50-100 ไร่ กำลังการผลิตอยู่ที่ 30-50 เมกะวัตต์ต่อจุด
“ยอมรับว่าพื้นที่แถวนั้นราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 (Covid-19) ที่ผ่านมาส่งผลให้ราคาที่ดินลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากการประเมินราคาทั้งโครงการก็ได้รวมกับราคาที่ดินและการจัดการต่าง ๆ ไว้แล้วจึงมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมราคาและทำให้เกิดกำไรต่อผู้ถือหุ้นได้"
โครงการดังกล่าวดำเนินงานตามแผนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาพื้นที่อีอีซีที่กำหนดสัดส่วนให้การใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ 70:30% และปัจจุบันจากการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซีมีสัดส่วนอยู่ที่ 4,000 เมกกะวัตต์ ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดหรือโซลาร์นั้นอยู่ที่ประมาณ 1,200 เมกะวัตต์ ในขณะที่ปี 2580 จะเติบโตไปอยู่ที่ 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการจ้างงานกว่า 50,000 คน รวมถึงยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ไม่น้อยกว่า 11 ล้านตันคาร์บอน ภายในระยะเวลา 30 ปี หรือประมาณ 400,000 ตันคาร์บอนต่อปี