นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงานหลังจากนี้ กฟผ.จะเน้นการปรับตัวให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุคนิว นอร์มอล โดยได้มีการตั้งงบลงทุนวงเงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนในธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ที่ดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ “พีดีพี” (PDP) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (Rev.1) หรือตั้งแต่ปี 2563-2580 โดยจะแบ่งเป็นเงินลงทุนปีละประมาณ 56,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและพัฒนาธุรกิจใหม่ 60% และอีก 40% จะเป็นการลงทุนสร้างสายส่ง
ขณะที่ปัจจุบันแผนการดำเนินงานนำเข้าก๊าซธรรมชาติ หรือ “แอลเอ็นจี” (LNG) จำนวน 5.5 ล้านตันในระยะเวลาตั้งแต่ปี 63-65 เพื่อที่จะใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าพระนครใต้ จ.สมุทรปราการ หรือโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยานั้น จะดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตวางแผนที่จะเข้าสู่กระบวนการต้นน้ำมากขึ้นโดยตั้งเป้าว่าภายใน 4 ปีข้างหน้าจะเข้าไปถือหุ้นในแหล่งผลิตแอลเอ็นจีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว
นอกจากนี้ กฟผ. กำลังจะเดินหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับก๊าซธรรมชาติ โดยทำคลังเก็บก๊าซลอยน้ำ(เอฟเอสอาร์ยู) ในอ่าวไทยตอนบน เพื่อรองรับการใช้งานของโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 และ 2 กำลังผลิต 1,660 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570 อีกด้วย โดยล่าสุดกำลังจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ “อีเอไอ” (EIA) อยู่ ซึ่งคาดว่าภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 64จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติการดำเนินงานและหลังจากนั้นจะเปิดหาผู้รับเหมาได้ทันที
ทั้งนี้ กฟผ. ยังเตรียมดำเนินการธุรกิจอื่น ประกอบด้วย ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” (EV) ได้แก่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า ,เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว (ควิก ชาร์จ) ขนาด 100 กิโลวัตต์ ,ธุรกิจสมาร์ทอีวีชาร์จเจอร์ขนาดเล็กแบบครบวงจรภายใต้แบรนด์ Wallbox ,ชุดดัดแปลงสภาพรถยนต์ให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี คิท” (EV Kit) ,ธุรกิจแบตเตอรี่อัจฉริยะ สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว ,ธุรกิจซื้อขายเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) ไว้อีกด้วย
นายบุญญนิตย์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า สถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในปี 63 นั้นลดลงกว่า 3% ตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่ลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลให้การสำรองไฟฟ้าที่มีมากว่า 30% ในปัจจุบันนี้มองว่าสูงเกินไป โดย กฟผ. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหาทางบริหารจัดการปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีแนวทางจะต้องมีการเพิ่มความต้องการใช้และลดกำลังการผลิตลง แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองกลับมาปกติ ปริมาณการสำรองดังกล่าวไม่เป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจแน่นอน และในปี 2564 มองว่าการใช้ไฟจะเป็นบวกที่ 4% จากปี 63 และหากสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) คลายตัวก็จะหนุนการใช้ไฟฟ้ากลับมาเพิ่มขึ้น