ไอเอ็มดี(International Institute for Management Development: IMD) ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับ ขีดความสามารถในการแข่งขันระบบรางทั่งโลก เมื่อไม่นานนี้ว่า ภายในปี 2566 หรืออีก3ปีข้างหน้า กรุงเทพมหานคร จะถูกพลิกโฉมกลายเป็น มหานครระบบรางที่มีระยะทางยาว เป็นอันดับ3ของโลกระยะทาง 560กิโลเมตร จากแผนจัดทำแผนแม่บท กระทรวงคมนาคม เร่งรัดพัฒนา 13-14โครงการ มูลค่า กว่า 9แสนล้าน มีเป้าหมาย ยกระดับประเทศไทยเป็นมหานครทางรางมีความยาวติดอันดับต้นๆของโลก และเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม ที่รถไฟฟ้าใหม่ๆหลายเส้นทาง ทยอยเปิดให้บริการ
อย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ข้าม3จังหวัด จากคูคตปทุมธานี เข้ากทม.นั่งยาวๆไป สมุทรปราการที่สถานตากอากาศบางปู และ เชื่อมบีทีเอสสายสีลมที่สถานีกรุงธนบุรีเข้าห้างไปคอนสยาม และสถานที่เที่ยวชุมชนเก่าคลองสาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สายสีแดง พร้อม สถานีกลางบางซื่อ ปีหน้า ช่วงต้นๆได้ยลโฉมกัน รวมระยะทางที่เปิดให้บริการ168กิโลเมตร โดยเส้นทางหลัก สายสีเขียว 68.25กิโลเมตร สายสีทอง 1.8กิโลเมตร สายสีน้ำเงิน 48กิโลเมตร สายสีม่วง 23กิโลเมตร แอร์พอรต์ลิงก์เชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทางยาว 28.6กิโลเมตร
ขณะที่อีกหลายเส้นทางอยู่ระหว่างก่อสร้างอย่างเร่งรีบ ด้วยเป้าหมายของรัฐบาล ต้องการยืดเส้นทางการเดินทางของประชาชนให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดทอนปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ได้แก่สายสีชมพู สายสีเหลือง ที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ยืนยันว่า ปลายปี2564 หรืออย่างช้าปี2565 เตรียมใช้บริการ เช่นเดียวกับสายสีส้ม ตะวันออก ที่ความคืบหน้า งานโยธา กว่า 72% มีเป้าหมาย ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2566 เปิดให้บริการปี 2567
ยังเตรียมความพร้อมประมูลเส้นทางอีก เช่นสายสีส้มตะวันตก ( ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) ส่วนงานโยธา สายสีม่วงใต้ เตาปูน –ราษฏร์บูรณะ สายสีเทา ของกทม. จาก วัชรพล ทะลุพระรม9 ไปใจกลางเมือง ยังไม่รวมสายสีน้ำตาล วิ่ง จากแคราย ยกระดับ ขึ้นไปบนตอม่อ ทางด่วนขั้นที่3 ตามเส้นทาง ของถนน เกษตร-นวมินทร์(ประเสริฐมนูกิจ) มุ่งหน้าสู่ บึงกุ่มบางกะปิ อีกทั้งสายสีฟ้าส่วนต่อขยายจาก บางนาไปสนามบินสุวรรณภูมิเช่นเดียวกับ ส่วนต่อขยายสายสีชมพู เชื่อมเข้าเมืองทองธานี ที่เตรียมขออนุมัติ จากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เร็วๆนี้ และ ส่วนต่อขยายสายสีเหลือง วิ่งจากรัชดาไปชนกับสถานีรัชโยธิน สายสีเขียว นอกจากนี้ยังไม่ลืมว่า ยังมี ส่วนต่อขยายสายสีแดง อีก 3-4เส้นทาง ทั้งต่อจากรังสิตไป ศูนย์ธรรมศาสตร์(รังสิต) อนาคต ยังมีเส้นทางสายย่อย
ขณะดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว วันท่18 ธ.ค.63 ระบุว่า กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าเป็นระยะทางยาว 168 กิโลเมตร อยู่ในอันดับ 25 ของโลก จากนี้ไปยังคงมีการเดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเติม แล้วในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2566 กรุงเทพฯ จะสามารถแซงหน้าขึ้นแท่นเป็นอันดับ 3 ของโลกได้หรือไม่? เมื่อประมาณกลางปี 2561 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ตำแหน่งในขณะนั้น) ประกาศก้องว่าในปี 2566 กรุงเทพฯ จะเป็นมหานครระบบรางอันดับ 3 ของโลก ท่านคงพูดด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบรางในกรุงเทพฯ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ตามแผนแม่บทรถไฟฟ้า แต่คงลืมคิดไปว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกโครงการล่าช้ากว่าแผนแม่บททั้งนั้น และเมืองอื่นๆ ทั่วโลกก็ไม่ได้หยุดก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ยังคงเดินหน้าก่อสร้างต่อไป ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ให้เราแซงได้อย่างง่ายดาย จึงทำให้ท่านกล้าประกาศออกไปเช่นนั้น
ผมได้จัด 10 อันดับเมืองที่มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาวที่สุดในโลกในปี 2563 โดยใช้ข้อมูลวิกิพีเดียเป็นฐาน ได้ผลดังนี้
อันดับ 1 กรุงปักกิ่ง มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 690.5 กม.
อันดับ 2 เซี่ยงไฮ้ มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 676 กม.
อันดับ 3 กรุงโซล มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 540.9 กม.
อันดับ 4 กวางโจว มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 531.1 กม.
อันดับ 5 กรุงลอนดอน มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 436 กม.
อันดับ 6 นิวยอร์ก มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 424.9 กม.
อันดับ 7 เซินเจิ้น มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 411 กม.
อันดับ 8 กรุงมอสโก มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 408.1 กม.
อันดับ 9 หนานจิง มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 378 กม.
อันดับ 10 เฉิงตู มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 350.9 กม.
จาก 10 อันดับดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่ามีเมืองในประเทศจีนถึง 6 เมือง ส่วนกรุงเทพฯ ของเรา มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 168 กิโลเมตร อยู่ในอันดับ 25 ของโลกจากนี้ไปจนถึงปี 2566 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า คาดว่าเราจะสามารถเปิดใช้รถไฟฟ้าเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 130 กิโลเมตร รวมกับที่เปิดใช้แล้วในปัจจุบัน 168 กิโลเมตร จะทำให้มีเส้นทางรถไฟฟ้ารวมเป็นระยะทางทั้งหมดประมาณ 300 กิโลเมตร คิดเป็น 54% ของเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งหมดในแผนแม่บทซึ่งมีระยะทางรวมประมาณ 560 กิโลเมตร ในขณะที่ในอีก 3 ปีข้างหน้า เมืองอื่นๆ ทั่วโลกก็จะมีเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันดังนั้น เมื่อเห็นข้อมูลอย่างนี้แล้ว พอจะบอกได้มั้ยครับว่ากรุงเทพฯ ของเราจะสามารถก้าวขึ้นเป็นมหานครระบบรางอันดับ 3 ของโลกได้หรือไม่