นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปี 2564 กรมเตรียมแผนดูแลสินค้าเกษตรและผลไม้ต่อเนื่อง จากกว่า 60% ของผลผลิตเป็นการส่งออก และด้วยสถานการณ์ของปัญหาโควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดอีกรอบส่งผลให้การส่งออกอาจมีปัญหาหรือล่าช้า ดังนั้นกรมได้เตรียมความพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงตลาด ซึ่งในปีนี้จะเพิ่มช่องทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลาซาด้า ช้อปปี้ จตุจักรมอลล์ ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า ผลไม้หลักที่จะดำเนินการได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลองกอง และสับปะรด เพื่อกระจายสินค้าให้เข้าถึงผู้ซื้อมากขึ้น ซึ่งจะหารือกันภายในเดือนมกราคมนี้
วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม
“กรมฯได้หารือกับแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการขายให้กับเกษตรกร คาดจะทราบในรายละเอียดในเร็ว ๆ นี้ว่ารูปแบบเชื่อมโยงการขายจะเป็นอย่างไร พร้อมกับหารือผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเพื่อช่วยลดต้นทุนด้วย ส่วนการเชื่อมโยงการขาย MOU กับผู้ซื้อและผู้ปลูก กรมฯก็ยังดำเนินการควบคู่ไปด้วยเพื่อกระจายสินค้าถึงมือผู้ซื้อ โดยอาจจะมีมาตรการเสริมด้านสภาพคล่องเข้าช่วยเหลือด้วยซึ่งต้องหารือกันเพิ่มเติม”
อย่างไรก็ตาม การดูแลราคาสินค้าเกษตรและผลไม้ในปี 2564 กรมฯยังคงเดินหน้าตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด ที่จะมีการออกมาตรการเสริมควบคู่ไปกับโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รวมไปถึงการดูแลผู้ปลูกผลไม้โดยเฉพาะในการเชื่อมโยงด้านการตลาดเพราะในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้จำเป็นต้องช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ปลูกให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับภาพรวมช่วง 10 เดือนแรกปี 2563 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยมีการส่งออกผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้งปริมาณ 1,957,592 ตัน คิดเป็นมูลค่า 121,279.50 ล้านบาท (+12.19%) ตลาดหลัก ได้แก่ จีน เวียดนาม ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา การส่งออกขยายตัวเนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่มีผลผลิตออกมามาก ได้แก่ ลำไย มะพร้าว ทุเรียน มังคุด มะม่วง เป็นต้น และเป็นผลไม้ที่เป็นที่ต้องการของตลาดค่อนข้างมากอยู่แล้ว แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกก็ตาม
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,642 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2564