“คดีจำนำข้าว” อ.ค.ส. เสียทีโดนฟ้องกลับเพียบ

10 ม.ค. 2564 | 02:00 น.

ตะลึง "คดีจำนำข้าว“ ศาลปกครองกลาง ยกฟ้องกราวรูด อคส. แหยง เอกชนไล่ฟ้องกลับเรียกค่าเสียหาย“หมอวรงค์” เชื่อรวมหัวทำสำนวนอ่อน “ ทีดีอาร์ไอ” ระบุสุ่มตรวจข้าว เสี่ยงคดีพลิก

"คดีจำนำข้าว" นับถอยหลัง ตั้งแต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) และคณะอนุกรรมการต่างๆ รวมทั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เพื่อทำหน้าที่ตรวจนับปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดก่อน โดยมีคณะทำงาน 100 ชุด ลงพื้นที่ตรวจสอบ มีผู้ตรวจราชการจากทุกกระทรวงเป็นหัวหน้าชุดและใช้บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและทหารจากกองทัพทั้ง 4 ภาค ภายใต้หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตามการอบรมและคู่มือการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐที่จัดทำขึ้นตามหลักสากลในการตรวจสอบสินค้าเกษตรซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไป 

 

 

 

โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ผลการตรวจสอบออกมาเช่นใดจะถือว่าเป็นคุณภาพของสินค้านั้นทั้งกอง และจะยึดถือผลนี้เป็นเกณฑ์ โดยมีผู้แทนเจ้าของคลังและบริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว(เซอร์เวย์เยอร์) หรือผู้แทนร่วมรับทราบและลงนามรับรองในเอกสารกำกับตัวอย่างข้าวและรายงานผลการปฏิบัติงาน ซึ่งต่อมา นบข. ได้เห็นชอบให้ใช้ผลการตรวจสอบตามรายงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการระบายข้าวที่เหลือในสต๊อกของรัฐบาล อีกด้านหนึ่งได้แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของคลังรับจ้างฝากเก็บข้าวกรณีข้าวมีคุณภาพไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดนั้น จนทำให้เกิด "คดีจำนำข้าว"

 

จากผลการดำเนินการดังกล่าวทำให้เกิดคดีอาญา โดยแบ่งเป็นในส่วนขององค์การคลังสินค้า (อคส.) กับคลังสินค้าที่เป็นคู่สัญญาที่ อคส.ดูแล 904 คดี ส่วนคดีอื่นๆ อยู่ที่อัยการประมาณ 50 เรื่อง ในส่วนของอัยการจะแยกเป็น 2 ส่วนคือ กรณีข้าวหาย ให้สันนิษฐานว่า เจ้าหน้าที่ อคส.ที่เฝ้าคลังรู้เห็นเป็นใจ ในส่วนนี้จะส่งเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บางส่วนก็ส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริง ส่วนอีกกว่า 800 เรื่องยังอยู่ในการดูแลของ ป.ป.ท. ว่าจะดำเนินการอย่างไร 

 

คืบหน้าทุจริตโครงการจำนำข้าวเปลือก

 

 

ส่วนคดีแพ่งฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 3 แสนล้านบาท คดีทั้งหมด 246 คดี แบ่งเป็นเจ้าของคลัง 167 ราย และในส่วนของเซอร์เวย์เยอร์ 79 ราย ล่าสุดศาลปกครองกลางได้ทยอยตัดสินออกมาแล้ว 6 คดี ยกฟ้อง ทั้งหมด  พร้อมกับให้ อคส.จ่ายค่าเช่าคลัง ค่าเสียโอกาส และอื่นๆ อีกให้กับเจ้า ของคลัง เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์กูรู "คดีจำนำข้าว" ได้รับคำตอบดังนี้

 

 

 

โดยนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์  ซึ่งเป็นทั้งผู้ฟ้อง และพยานต่อศาลแพ่งในคดีทุจริตจำนำข้าว กล่าวว่า ไม่แปลกใจที่ผลออกมาเป็นเช่นนี้ เพราะ คดีจำนำข้าว มีการทุจริตในทุกระดับ ตั้งแต่ต้นนํ้ากลางนํ้า และปลายนํ้า ที่จับได้คือขั้นปลายนํ้าโดยฝ่ายการเมืองที่ทุจริตแอบอ้างขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ได้ถูกดำเนินคดีและศาลตัดสินไปแล้ว ส่วนระดับกลางนํ้า ที่นำข้าวสารไปเก็บไว้ในคลัง ขั้นตอนนี้เป็นการสมคบคิดทุจริตแทบจะทุกฝ่ายและทุกพื้นที่ด้วย มองว่าเป็นทุจริตที่ทุกฝ่ายร่วมกันหมดไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ เซอร์เวย์เยอร์ เจ้าของคลัง มีการจ่ายเงินอย่างทั่วถึง พอถึงเวลาการทำสำนวนจึงทำแบบอ่อนมาก แบบสมยอมและรู้กัน เมื่อหลุดคดีแล้ว เจ้าหน้าที่ก็หลุดด้วย คือทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน จับยาก และเชื่อว่าการ “หลุดคดี” แบบนี้จะทยอยให้เห็นเรื่อยๆ 

 

นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม

 

ขณะที่ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การฟ้องร้องของ อคส. ควรจะฟ้องร้องในเรื่องข้าวหาย หรือข้าวเปลี่ยนชนิด แต่ถ้าเป็นข้าวชนิดเดียวกัน ก็มองว่าไม่ควรจะฟ้องตั้งแต่ต้น มองว่าราชการทำงานไม่เป็น บวกกับกระแสสังคมในขณะนั้นกดดันตั้งธงจะเอาผิดให้ได้ ก็ย่อมที่จะมีความผิดพลาดได้ในกรณีแบบนี้ 

 

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

 

 

ด้าน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ได้ยกกรณีอดีตผู้บริหารของ อคส. มีการทุจริตทำสัญญาซื้อขายถุงมือยางกับบริษัทเอกชนมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านบาท ว่า การฟ้องร้องอาจจะไม่รัดกุม มีนิติกรที่ไม่เข้มแข็งจะมีช่องโหว่ ไม่มีนํ้าหนักเพียงพอที่จะไปเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ เพราะการพิจารณาของศาลจะเป็นไปตามข้อมูลและสำนวนที่ส่งไป ดังนั้นเสนอให้ อคส.ต้องยกเครื่องใหม่ เพราะหลายกรณีเกิดจากความไม่มีประสิทธิ ภาพของ อคส. ในระบบการจัดการข้างใน ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ต้องทำจริงจัง 

 

 

รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,643 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2564 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"หมอวรงค์" แฉ 4 ตัวละคร สมรู้ร่วมกันทุจริต ต้นเหตุศาลยกฟ้อง "จำนำข้าว"

มีแต่เรื่องฉาว ยุบทิ้งอคส.เถอะ

ความรับผิด ของนายกรัฐมนตรี ระหว่างคดีปิดเหมืองแร่ กับจำนำข้าว