ผวา “สต็อกข้าวท่วม” กดราคาชาวนา

14 ม.ค. 2564 | 13:40 น.

สมาคมชาวนาฯ ห่วง สต็อกข้าวท่วม หลังราคาร่วง ไทยส่งออก ปี63 ได้เพียง 5.6-5.8 ล้านตัน  เล็งอนาคตผวาถูกกดราคา ชี้ปรับลดพื้นที่ปลูกข้าวยิ่งเป็นผลลบ ทำให้เสียตลาดส่งออก-ข้าวสารราคาแพง กระทบผู้บริโภค

 

 

ปราโมทย์ เจริญศิลป์

 

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตัวเลขที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้ในการประมาณการปริมาณผลผลิตแต่ละปีอยู่ที่ราว 30-31 ล้านตันข้าวเปลือก ปี 61/62 ผลผลิตข้าวเปลือกอยู่ที่ประมาณ 32.34 ล้านตัน ปี 62/63 ประมาณ 28.61 ล้านตัน และปี 63/64 ประมาณ 30.87 ล้านตัน  ทั้งนี้พื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งนาปีและนาปรัง ประมาณ 68-72 ล้านไร่ แต่ผลผลิตที่จะได้ในแต่ละปีก็จะขึ้นอยู่สภาวะความสมบูรณ์ อุทกภัยน้ำท่วม ความแห้งแล้ง และโรคพืช โรคแมลงด้วย

 

“หากใช้ตัวเลขนี้จะสีได้เป็นข้าวสารอยู่ที่ประมาณ 18-19.50 ล้านตันข้าวสาร โดยจะแบ่งเป็นส่งออกต่างประเทศ บริโภคภายใน และส่วนที่เหลือคือสต๊อกในประเทศ ซึ่งในอดีตไทยเคยส่งออกข้าวสารได้ประมาณ 9 ล้านตันบวกลบ   แต่ ณ สิ้นปี 2563 ส่งออกได้เพียงประมาณ 5.6-5.8 ล้านตัน  การบริโภคภายในประเทศประมาณ 6-7 ล้านตัน/ปี ดังนั้นจะเหลือเป็นสต๊อกค้างในประเทศ

 

นายปราโมทย์ กล่าวว่า หากใช้สมมุติฐานว่าในปีล่าสุด (ปี 63/64) ประมาณการปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกที่ 30.87 ล้านตัน ในขณะที่ส่งออกข้าวสาร ณ สิ้นปี 2563 เหลือเพียงเกือบ 5.8 ล้านตัน บริโภคภายใน 6-7 ล้านตัน ซึ่งก็จะเหลือเป็นสต๊อกข้าวสารคงค้างในประเทศถึง 6 ล้านกว่าตัน ซึ่งอาจกดดันสภาวะตลาดข้าวเปลือกในปีถัดไป  และจะมีส่งผล (ทั้งบวกและลบ) ต่อการสั่งซื้อข้าวสาร/ข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่ เนื่องจากสต๊อกปริมาณมากที่ยังคงค้างอยู่ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องวางแผนเรื่องการส่งออกสำหรับปีถัดไปให้เกิดความคล่องตัว คงปริมาณการส่งออกให้สูงโดยรักษาส่วนแบ่งตลาดในต่างประเทศ

 

“กรณีมีภัยแล้ง 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกต่ำกว่าตัวเลขประมาณการผลผลิตที่เคยใช้อยู่  โดยใช้ตัวเลขสมมุติฐานประมาณการผลผลิตที่จะได้เหลือเพียง 25 ล้านตันข้าวเปลือก จะสีได้เป็นข้าวสาร 16 ล้านตัน หักส่งออก 5.8 ล้านตัน และ บริโภคภายในประมาณ 6-7 ล้านตันข้าวสาร แต่ก็จะยังคงเหลือสต๊อกคงค้างในประเทศถึง 3-4 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะมากพอที่จะทำให้การซื้อเพื่อส่งออกของปีถัดไปไม่สะพัดเท่าที่ควร”

 

 

ทั้งนี้หากผลผลิตข้าวเปลือกของไทยยังคงต่ำลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จะมีผลเสียต่อการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกมากขึ้น  เนื่องจากผลผลิตข้าวเปลือกที่น้อยลงส่งผลให้ราคาซื้อขายข้าวเปลือกในประเทศจะสูงขึ้น ราคาขายเพื่อส่งออกต่างประเทศจะสูงตาม  ทำให้การแข่งขันในตลาดโลกของเราสู้ต่างประเทศไม่ได้ ดีเท่าที่ควร (ราคาขายข้าวไทยในตลาดโลกจะแพงและไม่ดึงดูดผู้ซื้อต่างประเทศ) ท้ายสุดจะส่งผลต่อรายได้รวมของเกษตรกร และรายได้จากการส่งออกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม รายได้ของเกษตรกรมากจากราคาต่อผลผลิตต่อไร่  ดังนั้นการลดพื้นที่เพาะปลูก ในประเทศลงไม่ใช่ทางออกที่ดีไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม  เพราะจะมีรายได้อะไรที่สามารถทดแทนเพื่อชดเชยส่วนที่หายไปให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ หากลดพื้นที่แล้วชาวนาจะไปปลูกพืชใดหรือทำอาชีพใดแทน (ไม่วนกลับมาจุดเดิม) การลดพื้นที่เพาะปลูกโดนหวังว่าจะลดอุปทานในตลาดเพื่อดึงราคาข้าวให้สูงขึ้นจะยิ่งเป็นผลลบ และจะยิ่งทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งด้านการส่งออกจนในที่สุดผู้บริโภคภายในก็จะต้องซื้อข้าวบริโภคในราคาที่สูงขึ้นไปด้วย ซึ่งไทยมีแนวโน้มจะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวลดลงเทียบจากปีก่อนหน้า ปี 61/62 อยู่ที่ประมาณ 71 ล้านไร่ ปี 62/63 ประมาณ 68.5 ล้านไร่ และ ปี 63/64 เหลือประมาณ 67.4 ล้านไร่

 

ดังนั้นเราควรที่จะต้องเร่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนปัจจัยการผลิต เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของเราลดลง และราคาซื้อขายข้าวเปลือกสมเหตุสมผล ทำให้ราคาขายข้าวสารส่งออกสามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากต่างประเทศได้  ซึ่งต้องเข้าใจว่าปริมาณผลผลิตข้าวโลกรวมต่อปีอยู่ที่ประมาณ 764-770 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนปริมาณการค้าข้าวโลกอยู่ที่ประมาณ 44 ล้านตันข้าวสาร  ซึ่งเดิมเราเคยส่งออกได้ 9-9.5 ล้านตันข้าวสาร

 

 

ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 6 ล้านตันข้าวสาร หากราคาขายเราสูงผู้ซื้อจะไม่สู้ราคาแต่จะหันไปซื้อจากประเทศคู่แข่ง (กระจายซื้อจากหลายราย) ที่ราคาดึงดูดกว่า และจะมีคู่แข่งในต่างประเทศพร้อมที่จะเข้ามาทดแทนส่วนแบ่งตลาดของเราที่เคยขายได้ในส่วนนี้อยู่ตลอด  โดยประเทศเพื่อนบ้านเช่นเวียดนามพม่า และกัมพูชา มีตัวเลขส่งออกต่อปีที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกๆปี ในทางตรงข้ามปริมาณส่งออกข้าวสารของไทยกลับหดตัวลงจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง (ยอดส่งออก ณ สิ้นปี 2561 ประมาณ 11.23 ล้านตัน ณ สิ้นปี 2562 ประมาณ 7.58 ล้านตัน และ ณ สิ้นปี 2563 ประมาณ 5.6-5.8 ล้านตัน)

 

 

นายปราโมทย์ กล่าวว่า  จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนการผลิตลง  รวมถึงจะต้องทบทวนอย่างจริงจังเรื่องการวิเคราะห์ตลาดว่า จากปริมาณข้าวรวมทั้งสิ้นที่เราส่งออกไปนั้นชนิดพันธุ์ (กลุ่มข้าว) ใดลดลง และชนิดพันธุ์ (กลุ่มข้าว) ใดเพิ่มขึ้น และในประเทศ ต่างประเทศนิยมบริโภคแบบใด และจึงส่งเสริมพันธุ์นั้นๆ และให้มีความหลากหลาย ทั้งข้าวพื้นนุ่ม พื้นแข็ง ไม่ไวแสง และไวแสง ให้สอดคล้องในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรมีสิทธิ์เลือกปลูกพันธุ์ และทันต่อสถานการณ์ ที่เป็นที่นิยมในตลาดภายใน และต่างประเทศ” 

 

ทั้งนี้เรื่องของแหล่งน้ำสำรอง (การเจาะบ่อบาดาล และพัฒนาแหล่งนำ้สาธารณะ) สำหรับช่วงที่น้ำขาดแคลนก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเกษตรกรเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและสูญเสียผลผลิตที่เกษตรกรลงทุนไป ส่วนเรื่องของเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่เพียงพอในพื้นที่นาน้ำฝน (พื้นที่ที่ปลูกได้เพียงปีละ 1 ครั้ง) ต้องหาวิธีแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรให้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้สนับสนุนให้แก่เกษตรกรกลุ่มนี้ได้เพียงพอ  เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกของไทยแบ่งเป็น 1)พื้นที่นาน้ำฝน ที่ต้องอาศัยนำ้ฝนเป็นหลัก ไม่อยู่ในเขตชลประทาน และปลูกได้เพียงปีละ 1 ครั้ง (นาปี) และ 2)พื้นที่เพาะปลูกที่สามารถทำนาได้มากกว่าปีละครั้ง มีแหล่งน้ำธรรมชาติ หรืออยู่ใกล้เขตชลประทาน ทำนาได้ทั้งนาปีและนาปรัง  จะเห็นได้ว่าเกษตรกรใน 2 พื้นที่นี้มีความแตกต่างกันทั้งเรื่องรายได้และปริมาณผลผลิตที่ได้

 

เกษตรกรในพื้นที่ๆทำนาได้ครั้งเดียว (นาปี) จะปลูกข้าวหอมมะลิหรือข้าวพันธุ์ไวแสง (มาตรฐานของข้าวนาปีที่ปลูกข้าวหอมมะลิ เน้นที่จะต้องความบริสุทธิ์สูง ในเรื่องของพันธุ์ปน) ซึ่งนอกจากผลผลิตข้าวชนิดนี้จะไม่สูงมากแล้ว เกษตรกรจะมีความเสี่ยงเรื่องของการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ หรือมีเมล็ดพันธุ์จำกัด  ซึ่งหากเกิดภัยแล้งหรืออุทกภัยต้องสูญเสียผลผลิตจากเมล็ดพันธุ์ที่หว่านไปแล้วนี้ ชาวนาจะไม่มีเมล็ดพันธุ์สำรองเพื่อหว่านรอบสองได้  เกษตรกรที่ประสบภัยแล้งมักจะใช้เมล็ดพันธุ์ที่พอมีอยู่พอหาได้ที่ไม่ได้ถูกคัดมาหรือไม่ได้คุณภาพ

 

หรือปล่อยให้เมล็ดปนเมล็ดแดงที่มีอยู่ในท้องนาขึ้น โดยไม่ไถทิ้งและปล่อยให้ขึ้นตามธรรมชาติ  เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวชาวนากลุ่มนี้จะได้ผลผลิตที่ไม่ดี มีพันธุ์ปน เสียโอกาสในการได้รายได้  เนื่องจากชาวนาไม่สามารถหาเมล็ดพันธุ์ใช้รอบที่ 2 ได้ จึงปล่อยให้ข้าวที่ปนอยู่ในนา หรือใช้เมล็ดพันธุ์ชุดเก่าปลูก ผลผลิตที่ได้จึงไม่มีคุณภาพ (มีความบริสุทธิ์ไม่สูง หรือมีพันธ์ุชนิดอื่นปนมาก) การแก้ปัญหานี้คือภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมจัดหาเมล็ดพันธุ์สำรองไว้ให้เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยง เตรียมเมล็ดพันธ์ุไว้กรณีพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาภัยธรรมชาติ  เพราะพื้นที่แถบที่ประสบภัยธรรมชาติมักจะเป็นพื้นที่เดิมๆที่มักจะประสบปัญหาเดิมเกือบทุกปี ทางภาครัฐเองก็มีข้อมูลว่าพื้นที่ใดที่เสี่ยง และประมาณการเตรียมเมล็ดพันธุ์สำรองสำหรับที่นาในส่วนนี้ได้

 

สุดท้ายเรื่องการพัฒนาพันธุ์ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันตลาดผู้บริโภคในต่างประเทศมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วต่างจากในอดีต  การพัฒนาพันธุ์  การต่อยอดจากพันธุ์เดิมโดยรักษาคุณลักษณะเด่นเพิ่มยิลด์ผลผลิต การเพิ่มความทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และโรคต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญ  ในขณะที่ต่างประเทศมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งในประเทศไทยนอกจากนักวิจัยของกรมการข้าวแล้ว ก็ยังมีนักวิจัยพันธุ์ข้าวจากสถาบันต่างๆ ที่นำพันธุ์ที่พัฒนาได้ไปขึ้นทะเบียนกับทางกรมวิชาการเกษตรกร 

 

ทั้งนี้เป็นเรื่องที่ดีที่เรามีการวิจัยพันธุ์คอยพัฒนาและต่อยอดพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถส่งเสริมได้โดยการสร้างแรงจูงใจ เช่น การให้รางวัล หรือค่าตอบแทนแก่นักวิจัยพันธุ์ข้าว (ทั้งนักวิจัยของกรมการข้าว และนักวิจัยของสถาบันฯ)  แต่ทั้งนี้การวิจัยและพัฒนาก็ควรเป็นการทำแบบรวมศูนย์ คือหากนักวิจัยจากสถาบันฯต่างๆ ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นมาแล้ว และหากพันธุ์ข้าวนั้นๆเป็นที่ยอมรับและใช้ได้แล้ว (หลังจากได้รับค่าตอบแทน) ก็ควรนำมาให้ทางกรมการข้าวเป็นผู้ดูแลต่อไม่ให้ขาดตอน

 

โดยสามารถให้นักวิจัยของกรมการข้าวนำมาต่อยอด และดูแลรักษา และพัฒนาพันธุ์อย่างต่อเนื่องได้  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดโลก และเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของข้าวไทยไว้ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จึงเป็นสิ่งที่เราควรเร่งทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง  ซึ่งในความเป็นจริงทางกระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีการทำแผนยุทธศาสตร์ข้าวต่างๆไว้แล้ว แต่ทั้งนี้อาจจะต้องมีการประเมินและติดตามผลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะไม่ให้ขาดตอน เพื่อให้เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ตรงตามที่วางแผนไว้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ห้ามไม่ได้จริงๆ "ชาวนา" ปลูกข้าวเกินแผนพุ่ง 2.6 ล้านไร่

ส่งออกข้าวไทยปี 63 ทำดีที่สุดแค่ 5.8 ล้านตัน

ปี64 ส่งออกข้าวยังโคม่าคาดทั้งปี 5 ล้านตัน