“โควิด”ดันอุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องใช้ไฟฟ้าครัวเรือน-เภสัชภัณฑ์โต

17 ม.ค. 2564 | 09:55 น.

“โควิด-19”ดันอุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องใช้ไฟฟ้าครัวเรือน-เภสัชภัณฑ์โตต่อเนื่องปี 64 พร้อมเตรียมออกมาตรการพยุงเอสเอ็มอี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมรวมทั้งแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมไทยในปี 2564 จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์และได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น  3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์และมีการผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยมีการผลิตเพิ่มขึ้น 1-4% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความจำเป็นในการอุปโภคและบริโภค และความกังวลของระยะเวลาการระบาด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เช่น เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น ผักผลไม้แช่แข็ง ผลไม้และผักบรรจุกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ได้แก่ ตู้เย็น ไมโครเวฟ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ วงจรรวมและฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ที่มีปัจจัยบวกจากกการ Work From Home ซึ่งนำไปใช้ในการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ส่วนอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค และอุตสาหกรรมถุงมือยาง คาดว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้น 5-10% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากยังคงมีความต้องการใช้ทางการแพทย์และในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นทั้งภายในประเทศและการส่งออก

2.อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก และมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการผลิตขยายตัวเล็กน้อยประมาณ 0.5-1% เมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ที่มีการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง เป็นต้น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ส่วนอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการผลิตขยายตัว 0.5-3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมแฟชั่น (สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องหนัง) เริ่มกลับมาฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มน้ำมันเตาจะมีการขยายตัวจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบมากจากการแพร่ระบาดในรอบแรกแต่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

และ 3.อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยคาดว่าการผลิตจะหดตัว 10.0-15.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันเครื่องบินยังคงมีข้อจำกัดจากการเดินทางทางอากาศ 

อย่างไรก็ดี  การผลิตยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 (Covid-19) และยังต้องจับตาดูหลายอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง ทั้งส่วนกลางและอุตสาหกรรมจังหวัดต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่

“จากผลกระทบภาคอุตสาหกรรมปี 63 ที่ผ่านมา พบว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจไทยเกิดการชะลอตัวของอุปสงค์และอุปทานในหลายอุตสาหกรรม ตลอดจนส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทย”

ทั้งนี้ กระทรวงฯเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” (SMEs) ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้ก้าวผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยคาดว่าเร็ววันนี้ ธพว.จะดำเนินการในการออกข่าวประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ประกอบการยื่นขอรับความช่วยเหลือต่อไป

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้รับทราบนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแนะแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมน้อยที่สุด เนื่องจากการแพร่ระบาดฯ รอบใหม่มีโอกาสที่จะสร้างผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับการเกิดระบาดในรอบแรก เช่น ขาดวัตถุดิบ/ชิ้นส่วนนำเข้าขาดสภาพคล่องทางการเงิน ภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการบางส่วนมีการเตรียมความพร้อม วางแผนทางการเงินและการผลิตไว้บ้างแล้ว

สำหรับในระยะยาว ควรตระหนักและให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ห่วงโซ่การผลิตสิ่งแวดล้อม และแรงงาน รวมถึงพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค เพื่อพัฒนาสินค้าเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลง ความอ่อนไหวในทุกสถานการณ์เพื่อให้สามารถรักษาฐานการผลิตได้ ขณะเดียวกันภาครัฐอาจพิจารณานำมาตรการบรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูที่เคยใช้ในการแพร่ระบาดฯ รอบแรก กลับมาใช้ ซึ่งทางกระทรวงจะดำเนินการตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอย่างทันท่วงที