โคม่า “ข้าวไทย” โดนปรับอื้อ ผิดเบี้ยวนัด

29 ม.ค. 2564 | 10:10 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ม.ค. 2564 | 21:39 น.

​​​​​​​นายกสมาคมส่งออกข้าวไทย เผย ตู้คอนเทนเนอร์ขาด ค่าระวางเรือสูง พ่นพิษ ไทยโดนคู่ค้าปรับเบี้ย ผิดนัดชำระอื้อ ซ้ำข้าวไทยทุกชนิด แพงลิ่ว แข่งขันยาก

 

เจริญ เหล่าธรรมทัศน์

 

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมส่งออกข้าวไทย เผยว่า จากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในปี 2563 ( มกราคม-ธันวาคม ) มีปริมาณ 5,724,679 ตัน มูลค่า 115,914.8 ล้านบาท ( 3,727.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ) โดยปริมาณส่งออกลดลง 24.5% และมูลค่าลดลง 11.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีการส่งออกปริมาณ 7,583,662 ตัน มูลค่า 130,584.6 ล้านบาท ( 4,207.4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ )

 

การส่งออกข้าวในเดือนธันวาคม 2563 มีปริมาณ 480,102 ตัน มูลค่า 9,257 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง 33.5% และ 29.2% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ส่งออกปริมาณ 721,779 ตัน มูลค่า 13,072 ล้านบาท เนื่องจาก เดือนที่ผ่านมาผู้ส่งออกประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นมากทาให้ไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนดและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกข้าวขาวมีปริมาณ 155,794 ตัน ลดลง 39.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

 

ส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศแคเมอรูน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ จีน โมซัมบิก ลาว เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณ 144,969 ตัน ลดลง 53.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปตลาดหลักในแถบแอฟริกา เช่น เบนิน แอฟริกาใต้ แคเมอรูน เยเมน เป็นต้น

 

ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 145,858 ตัน เพิ่มขึ้น 17.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนซึ่งส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดประจำ เช่น สหรัฐฯ จีน ฮ่องกง แคนาดา เป็นต้น  

 

การส่งออกข้าวไทยย้อนหลัง 4 ปี

 

สมาคมฯ คาดว่าในเดือนมกราคม 2564 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 500,000 ตัน เนื่องจากในช่วงนี้ผู้นาเข้าในแถบแอฟริกาและเอเชียยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่งแต่ปริมาณไม่มากนัก ขณะที่ตลาดหลักที่นำเข้าข้าวหอมมะลิและข้าวหอมไทยยังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตามการส่งออกข้าวในช่วงนี้อาจจะมีปริมาณไม่มากเหมือน ช่วงเวลาปกติ เนื่องจากผู้ส่งออกยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ประกอบกับค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้การส่งมอบสินค้าต้องล่าช้ากว่ากำหนดและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

 

ภาวะราคาข้าวของไทยในช่วงนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทั้ง "ข้าวขาว" และ "ข้าวนึ่ง" ท่ามกลางภาวะค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางแข็งค่า โดยข้าวขาว 5% ราคาปรับเพิ่มขึ้นจาก 529 เหรียญสหรัฐฯต่อตันเมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว มาอยู่ที่ 550 ดอลล่าสหรัฐฯต่อตัน

 

ขณะที่ข้าวนึ่งปรับเพิ่มขึ้นจาก 535 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อตัน มาอยู่ที่ 558 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อตัน ส่งผลให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าอินเดียประมาณ 160 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อตัน โดยเว็บไซต์ Oryza.com รายงานราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และ ปากีสถาน อยู่ที่ 523-527, 388-392 และ 453-457 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ