ย้อนไปเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)แถลงข่าวเกี่ยวกับกรอบการทำงานของคณะ กมธ. ว่า ที่ประชุมมีมติให้นัดประชุมทุกวันอังคาร และทุกวันพุธ และได้แต่งตั้งคณะอนุ กมธ. อีก 3 คณะ เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับ
1. เมล็ดพันธุ์การเกษตร 2. สาธารณสุขและเวชภัณฑ์ และ 3. เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เพื่อให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และรอบด้าน ตลอดจนข้อดี ข้อเสียในการเข้าร่วม CPTPP โดยรัฐบาลได้ให้สิทธิเสรีภาพในการพิจารณาอย่างเต็มที่ และจะยึดผลการศึกษาการพิจารณาของคณะ กมธ. วิสามัญฯ ประกอบการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ ล่าสุด มีความคืบหน้าตามลำดับแล้ว
นายเดชา นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ได้มีการนัดประชุม วันที่ 5 กุมภาพันธ์ นี้ วงในเผย หากที่ประชุมมีมติผ่านเห็นชอบ ก็จะนำเรื่องเข้า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเลย คาดว่า จะเป็นวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้
“ทำไมยังไม่คิดที่จะเลิกเข้าร่วมกันอีก ซึ่งทางสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ยังยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วม เนื่องจากพันธุ์ข้าวประเทศไทยมีมากหลายสายพันธุ์กว่า 1,000 สายพันธุ์ แต่มีการรับรองพันธุ์ ข้าวที่ผ่านการรับรองทั้งประเทศ คือ 159 พันธุ์ (ก่อนที่จะจัดตั้งกรมการข้าวเป็นกรมวิชาการเกษตร ให้การรับรอง 96 พันธุ์) พอจัดตั้งกรมการข้าวขึ้นมา การรับรองพันธุ์ข้าวก็เป็นหน้าที่ของกรมซึ่งให้การรับรองต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน”
นายเดชา กล่าวว่า ตอนนี้พันธุ์ข้าวในประเทศ ยังไม่นิ่ง หากต่างชาติมาผสมโน้นผสมนี้ ก็กลายเป็นของต่างชาติไปหมด จะทำอย่างไร เพราะจะกลายเป็นพันธุ์ใหม่ทันที เชื่อว่าถ้าเกษตรกร ทั่วประเทศทราบข่าวนี้ คงจะขวาง และพร้อมใจลุกฮือต้านทั้งประเทศ และไม่ยอมที่จะเข้าร่วม “UPOV 1991” เด็ดขาด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"CPTPP“ วีระกร ลั่นต้องรอบคอบ รัฐมอบดาบตัดสินร่วม-ไม่ร่วม
เดือด “UPOV” ไม่ยอม ไทยถอด “ข้าว” ออกจาก CPTPP
เปิดผลศึกษา CPTPP ไทยยังไม่พร้อมเข้าร่วม (2) ข้อเสนอด้านเกษตร