นโยบายการพัฒนาประเทศของสปป.ลาว ตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องการให้เป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” โดยการให้สัมปทานการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า จนส่งผลให้มีกำลังผลิตติดตั้ง 5-6 พันเมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน และส่งขายไฟฟ้ากับประเทศตัวเองจากความต้องการใช้ที่มีอยู่ราว 1 พันเมกะวัตต์
ประกอบกับการเร่งพัฒนาประเทศ โดยการกู้เงินจากจีนมาร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ร่วมกับจีน และต้องผ่อนชำระหนี้เป็นงวดๆ ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก
ขณะที่ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมาเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การพัฒนาประเทศชะงัก ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามที่รัฐบาลสปป.ลาวคาดหวังไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าที่ได้ลงนามในสัญญาที่จะรับซื้อไว้เกินกว่าปริมาณความต้องการใช้ แต่มีสัญญาผูกพันที่จะต้องจ่ายเงิน ประกอบกับภาระหนี้ที่สูงจากการกู้เงินมาลงทุนในโครงการต่างๆ จนส่งผลสถานะทางการเงินของสปป.ลาวย่ำแย่ มีเงินทุนสำรอง เหลืออยู่ราว 3 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าระดับหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่ประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่ถึงกำหนดชำระในปีนี้
แหล่งข่าวจากวงการผู้ผลิตไฟฟ้า เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2563 ทางบริษัท ผลิตไฟฟ้า-ลาว มหาชน (อีดีแอล) ซึ่งเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าได้ส่งหนังสือมาแจ้งบรรดาผู้ผลิตไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าให้กับสปป.ลาว ว่าจะขอปรับเปลี่ยนสัญญาการจ่ายเงินค่าผลิตไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากรัฐบาลประสบปัญหาทางการเงิน ไม่มีเงินมาจ่ายให้ และขอให้คู่ค้าช่วยพิจารณาเงื่อนไขที่เสนอมาออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะสั้นขอชะลอการจ่างเงินออกไปก่อนจนกว่าทางบริษัทอีดีแอล จะปรับโครงสร้างหนี้ให้แล้วเสร็จในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า และขอจ่ายในสกุลเงินกีบแทนในรูปแบบเงินดอลลาร์สหรัฐ และระยะถัดไป ได้ขอให้ลดผลตอบแทนด้านการลงทุนเหลือเพียง 8% และลดค่าเทคออร์เพย์ (Take or Pay)จากที่ไม่สามารถรับไฟฟ้าตามสัญญาได้ และขอเปลี่ยนราคาค่าไฟฟ้าตลอดสัญญาใหม่จากเดิมที่ที่ช่วงแรกจะซื้อแพงมาเป็นราคาซื้อถูกแทน เป็นต้น
แหล่งข่าวจากบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือจีพีเอสซี กล่าวว่า บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี กำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ถือหุ้นอยู่ 25% ขายให้กับอีดีแอล 60 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าห้วยเหาะ กำลังผลิต 152 เมกะวัตต์ ถือหุ้นทางอ้อม 67.25% ขายให้อีอีแอล 2 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าน้ำลิก 1 ขนาด 65 เมกะวัตต์ ถือหุ้น 40% ขายให้อีดีแอลทั้งหมด ซึ่งการชะลอการจ่ายเงินค่าไฟฟ้าตามที่สปป.ลาวเสนอมาอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะต้องมีการหารือกันต่อไป โดยคิดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะนำมาซึ่งโอกาสการเจรจาขอสิทธิ์อื่นๆ หรือต่ออายุโครงการออกไปได้
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ถือหุ้น 37.5% บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด 25% รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 20% บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 12.50% และ บริษัท พีที จำกัด 5% ซึ่งได้รับรายงานว่าผู้ถือหุ้นต่างๆ อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอที่อีดีแอลเสนอเงื่อนไขมา ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B รวมกำลังผลิต 114 เมกะวัตต์ กล่าวว่า ทางบริษัทยังไม่เห็นผลกระทบที่เป็นสาระสำคัญ การชำระเงินอาจล่าช้าบ้าง แต่ยังคาดว่าจะได้รับการชำระอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,653 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564