ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร ชาวสวนยาง ตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท. ) ทั้งบัตรสีเขียว และบัตรสีชมพู ซึ่งแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยาง ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,834,087 ราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ 18,286,186.03 ไร่ กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563–มีนาคม 2564 รอบแรกได้มีการเคาะจ่ายส่วนต่าง “ประกันราคายาง” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีความคืบหน้า ตามลำดับ เกษตรกรชาวสวนยาง เช็กสิทธิ์ ผ่านลิงค์ http://www.rubber.co.th/gir/index/ และตรวจสอบสถานะการโอนเงินได้ https://chongkho.inbaac.com/ ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งผ่านมา 4 งวดแล้ว นั้น
นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่ ครม. มีมติให้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย ได้มีการกำหนดเป้าหมายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,834,087 ราย
โดยแบ่งเป็น เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 1,142,294 ราย เกษตรกรที่แจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 419,060 ราย และ คนกรีดยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 272,733 ราย โดยได้กำหนดระยะเวลาการโอนเงินชดเชยไว้จำนวน 6 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เดือนตุลาคม 2563 ครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 253 ครั้งที่ 3 เดือนธันวาคม 2563 ครั้งที่ เดือนมกราคม 2564 ครั้งที่ 5 เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และครั้งที่ 6 เดือนมีนาคม 2564 ซึ่งจะมีการจ่ายเงินในเดือนถัดไปในแต่ละครั้ง
สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งรายชื่อให้ ธ.ก.ส. สั่งจ่ายเงินไปแล้ว ในงวดที่ 1 – 4 จำนวน 9,333.321 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 96.04 ของวงเงินงบประมาณเงินชดเชยที่ ครม. อนุมัติ (9,717.995 ล้านบาท) คงเหลือ 384.674 ล้านบาท
จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคายางพารามีความผันผวนไม่สอดคล้องกับราคายางที่คาดการณ์ ณ ช่วงเวลาที่จัดทำโครงการฯ เสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการคำนวณประเมินสถานการณ์ราคายาง ณ ปัจจุบัน คาดการณ์ว่าจะต้องใช้งบประมาณในการชดเชยส่วนต่างราคาประกันในงวดที่ 5 – 6 วงเงินงบประมาณ 5,265.295 ล้านบาท ซึ่งเกินวงเงินที่เคยได้รับอนุมัติเบื้องต้น
“ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 4,990.435 ล้านบาท (แบ่งเป็น งบประมาณสำหรับประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 4,880.621 ล้านบาท และงบประมาณสำหรับชดเชยต้นทุนเงินในอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 ภายในวงเงินไม่เกิน 109.814 ล้านบาท) ซึ่งทำให้วงเงินเพิ่มเป็น กว่า 1,4000 ล้าน บาท จากกรอบวงเงินเดิม 10,042 ล้านบาท
สอดคล้องด้าน นายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เกษตรกรมีข้อท้วงติง 1.ทำไมเวลาเงินประกันรายได้ขาวสวนยางออกราคาถึงร่วงทุกครั้ง 2.เวลายางปิดกรีด ทำไมราคายางจึงปรับขึ้น 3. ทำไมน้ำยางสด ราคาชดเชยถึง 10.01 บาท/กก. ใน งวดที่4 แต่ ยางแผ่นดิบ กลับได้รับเงินชดเชย 5.07 บาท/กิโลกรัม ทำไมถึงร่วงลงในลักษณะแบบนี้ เป็นช่วงปลายฤดูราคายางน่าจะขยับขึ้น
“คำถามต่างๆ เหล่านี้ เราตอบให้พวกเกษตรกรไม่ได้ แต่ในภาพรวมราคายางในตลาดก็ต้องยอมว่าดีกว่าปีที่แล้ว การชดเชยอีก 2 เดือน ก็คือ งวดประจำเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม จะน้อยลง เนื่องจากราคายางปรับสูงขึ้น ไม่หวือหวา ระยะสั้นๆ"
นายเขศักดิ์ กล่าวว่า นโยบาย "ประกันราคายางพารา" ประกันรายได้เกษตรกร ก็ต้องขอขอบคุณรัฐบาล และ กยท.ที่ได้ดูแลชาวสวนยาง แต่ก็อยากให้เน้นเรื่องการตลาด อยากให้ราคา ที่ยืนอยู่ในปีนี้ ให้ส่งอานิสงส์ไปถึงฤดูกาลหน้าด้วย หากย้อนไปในราคาปี 2562 ราคายางก้อนถ้วยในช่วงนี้จะอยู่ที่ 13-14 บาท/กก. แต่ปีนี้ราคาอยู่ที่ 20 บาท/กก. ถือว่าการบริหารการจัดการวางแผนนโยบายต่างที่รัฐบาลและ กยท.ระดมแนวความคิด "ถือว่าใช้ได้ เกษตรกรพอใจ"
เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลสวนยางไว้กับ กยท.สามารถตรวจสอบสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่2 ได้ที่ลิงค์ http://www.rubber.co.th/gir/index/
ทั้งนี้ เกษตรกรยางพารา ชาวสวน สามารถ ตรวจสอบสถานะการโอนเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา แบบอัพเดทได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่ https://chongkho.inbaac.com/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกร “ประกันราคายาง” วุ่น งบไม่พอ 4,000 ล้าน
ตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกร จ่ายส่วนต่าง "ประกันราคายางพารา" งวด4 ล่าสุด