วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ ได้จัดประชุม ต่อเนื่องจากโครงการกำแพงเพชรโมเดล จากจุดเริ่มต้นที่ดำเนินการไปแล้ว5,000ไร่ และฤดูกาล ต่อไปจำนวน20,000ไร่) เพื่อหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และผู้ประกอบการโรงสีข้าวในพื้นที่จังหวัดชัยนาท เวลา 10.30 น. ณ บ้านพักที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย จังหวัดชัยนาท
เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันของข้าวไทยที่กำลังถูกแย่งตลาดจากประเทศผู้ส่งออกข้าวในภูมิภาคเดียวกันที่ผลิตข้าวได้คุณภาพใกล้เคียงกับของไทยในราคาที่ต่ำกว่า และตรงความต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยลดลงอย่างมาก และเพื่อเร่งปรับตัว ตื่นตัวรับความเปลี่ยนแปลง สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ไม่สามารถนิ่งเฉยได้ จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ
ประกอบด้วย ได้แก่ สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และผู้ประกอบการโรงสีข้าวในพื้นที่และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินโครงการโดยจะเน้นเลือกพันธุ์ข้าวที่ผ่านการรับรองแล้วจากกรมการข้าว และจะต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ชาวนา ในด้านต่างๆ นำมาสนับสนุนให้กับเกษตรกรได้เลือกเพาะปลูกตามความต้องการ (ทั้งพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และข้าวนุ่ม) และมีโรงสีในพื้นที่รับซื้อ โดยเน้นการปฏิบัติได้จริงเพื่อดูผลตอบรับจากตลาด รวมถึงรายได้ที่แท้จริงที่เกษตรกรคงเหลือเก็บหลังหักต้นทุนทั้งหมด เป็นหลัก
โดยมีวัตถุประสงค์หลักของสมาคมชาวนาฯคือ เพื่อที่จะแนะนำ สนับสนุน และ ส่งเสริมเกษตรกร ให้เลือกปลูกข้าวพันธุ์พื้นแข็ง (กข85) พันธุ์พื้นนุ่ม (กข79 และ กข 87) และทำให้ชาวนามีความมั่นใจว่าปลูกแล้วมีโรงสีรับซื้อ อีกทั้งยังเป็นการสนองตอบเชิงนโยบายของภาครัฐด้านยุทธศาสตร์ข้าว5ปี ตลาดนำการผลิต ซึ่งสมาคมชาวนาฯนำมาประยุกต์ใช้ พื้นที่เพาะปลูกเบื้องต้นตั้งเป้าที่ 20,000 ไร่ที่จ.ชัยนาท และในพื้นที่ อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ อีก 7,000 ไร่ แบ่งแยกหน้าที่ดังนี้
นายปราโมทย์ กล่าวว่า สมาคมชาวนาฯ ดำเนินการรวบรวมหาสมาชิกเพื่อมาร่วมเพาะปลูก และสนับสนุนโดยการประสานงาน สมาคมผู้รวบรวมฯ ผู้ประกอบการโรงสี และกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยในเรื่องของพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูก พัฒนาแหล่งน้ำ รวมถึงการเจาะบ่อบาดาล ให้ความรู้ มุมมองในด้านการเพาะปลูก และด้านการตลาดต่างๆในภาพรวมเพื่อเป็นองค์ความรู้
สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นสมาคมที่มีศักยภาพสูง ในแต่ละปีสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพในปริมาณที่มาก สามารถตอบสนองความต้องการใช้เมล็ดพันธ์ุของเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง โดยสมาคมเมล็ดพันธ์ุฯ จะสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านเมล็ดพันธ์ุให้เกษตรกร รวมถึงชี้แจงให้ความรู้เรื่องคุณสมบัติของข้าวแต่ละชนิด ได้แก่ พันธุ์ กข 85 กข 79 และ กข 87 ให้ข้อมูลวิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสมถูกต้อง
อีกทั้งสามารถจัดหาเมล็ดพันธ์ุที่มีคุณภาพเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการได้เพียงพอตามโจทย์ที่วางไว้ ทั้งนี้สมาคมเมล็ดพันธ์ุฯยังมีส่วนช่วยใน เรื่องการติดตามการเพาะปลูกตามช่วงระยะเวลา ซึ่งจะเป็นการช่วยสอดส่อง และตรวจดูแปลงนา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเพาะปลูก และทั้งสองสมาคม (สมาคมชาวนาฯและสมาคมผู้รวบรวมฯ) จะรวมมือกันในการ ป้องปราม ป้องกันปัญหา การจำหน่ายพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้คุณภาพ
โดยเบื้องต้น มีโรงสีในพื้นที่ จ. ชัยนาท จ.นครสวรรค์ และจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผู้รับซื้อข้าวทั้ง 3 ชนิดในราคาตลาด ตามชั้นและคุณภาพ (ซึ่งจะมีการช่วยกระตุ้นในเรื่องราคาในกรณีที่เกษตรกรทำข้าวได้คุณภาพ) ให้คำแนะนำถึงช่วงเก็บเกี่ยว อย่างไรให้ความชื้นเหมาะสม ได้คุณภาพ และให้ความรู้ มุมมอง ทิศทาง ตลาดข้าว ทั้งภายในและต่างประเทศ
สำหรับการเข้าหารือนี้มีผู้นำเกษตรกรในพื้นที่ได้เข้าร่วมรับฟังถึงแนวทาง เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมฯ เพื่อใช้ในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการนี้จะไม่มีเงื่อนไขใดๆผูกมัด เกษตรกรมีความอิสระในการเลือกแหล่งที่ขายสินค้าผลผลิต ได้ตามความพอใจวัตถุประสงค์ ในการดำเนินโครงการ เป็นโครงการกระตุ้นให้เกษตรกรตื่นตัวมากขึ้น มีข้อมูลและความเข้าใจในข้าวแต่ละสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาแล้วโดยกรมการข้าว และเป็นทางเลือกในการตัดสินใจให้เกษตรกรสามารถเลือกเพาะปลูกเองได้ในแต่ละฤดูกาล และมีผู้รับซื้อผลผลิต
โดยมีแนวคิด “เลือกปลูกพันธ์ุไหนคุ้มค่าลงทุน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ตรงตลาด หักลบกลบหนี้แล้วเหลือเงินมากกว่า” คือเป้าหมายของสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ทั้งนี้ มองว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย รวมไปถึงผู้ประกอบการค้าข้าว
ทั้งนี้ ผมในฐานะนายกสมาคมชาวนาฯ มีความรู้สึกอบอุ่น และพอใจการประชุมวันนี้เป็นอย่างมาก ต้องขอขอบคุณ สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว และผู้ประกอบการโรงสีข้าวในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ที่ให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวของสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ทำให้มีกำลังใจ มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนโครงการ และจะพยายามทำต่อไปในหลายๆพื้นที่ ตามกำลัง ขีดความสามารถ เท่าที่มีอยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง