ปี 2563 ที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-16 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอยังทะลุเกินเป้าหมาย โดยมีการขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,717 โครงการเพิ่มขึ้น 13% มูลค่าเงินลงทุนรวม 481,150 ล้านบาท ลดลง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ยังสูงเกินเป้าหมายที่บีโอไอคาดไว้ว่าจะมีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริม 300,000 ล้านบาท เพราะในปี 2562 มีโครงการขนาดใหญ่ขอรับการส่งเสริมคือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่มีมูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท หากไม่นับรวมโครงการนี้มูลค่าขอรับการส่งเสริมในช่วงปี 2561-2563 จะใกล้เคียงกันทุกปี
ทั้งนี้พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากที่สุด มีจำนวนคำขอ 453 โครงการ เงินลงทุนรวม 208,720 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 43% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนใน 3 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหลักของ EEC คือ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกลุ่มสาธารณูปโภคและโลจิสติกส์
ส่วนคำขอรับการส่งเสริมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน มีจำนวน 17 โครงการ มูลค่าลงทุน 12,340 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยมีศักยภาพ เช่น การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป กระเป๋า ถุงมือยาง บรรจุภัณฑ์พลาสติก พลังงานทดแทน การแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร
สำหรับในปี 2564 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ระบุว่าจากสถิติการออกบัตรส่งเสริมของบีโอไอ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้จะเกิดการลงทุนจริงมากที่สุดถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยในปี 2563 มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติและจัดตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้วมาดำเนินการออกบัตรส่งเสริมกว่า 1,300 โครงการ เงินลงทุนรวม 430,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ประกอบกับมีโครงการที่ได้ออกบัตรส่งเสริมไปแล้วในช่วงปี 2561-2562 อีก 2,754 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้จะทยอยลงทุนภายใน 1-3 ปี จึงคาดว่าในปี 2564 จะมีเม็ดเงินลงทุนจริงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท
สอดคล้องกับที่สภาพัฒน์ฯคาดการณ์ว่าการลงทุนของภาคเอกชนในปีนี้จะขยายตัว 3.8% ฟื้นตัวจากการลดลง 8.4% ในปี 2563 ขณะที่การส่งออกในปีนี้คาดจะขยายตัว 5.8% เทียบกับการลดลง 6% ในปีที่ผ่านมา ปัจจัยภายนอกที่เอื้อต่อการลงทุนในไทย ที่สำคัญคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ( IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวได้กว่า 5% ขณะที่องค์การการค้าโลก (WTO )คาดการค้าโลกจะพุ่งขึ้นกว่า 7% ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลาย การค้าขายดีขึ้น และปัจจัยในประเทศมีความพร้อมก็เป็นโอกาสที่การลงทุนจะขยายตัวมากขึ้น
นอกจากนี้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติมีการกระจายฐานการลงทุนเพื่อบริหารห่วงโซ่อุปทาน(ซัพพลายเชน) เพื่อลดความเสี่ยง จะส่งผลให้การย้ายฐานการผลิตยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มมีสงครามการค้าเมื่อปี 2561 จนถึงสิ้นปี 2563 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมเพื่อย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า กว่า 200 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 1 แสนล้านบาท
“ที่บีโอไอทราบว่า 200 โครงการย้ายเข้ามาไทยจากผลกระทบสงครามการค้า บีโอไอดูจากโครงการที่ขอรับส่งเสริมมีเป้าหมายการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกา 100% หรือส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า อีกทั้งโครงการเหล่านี้มักจะเร่งรัดแผนดำเนินการเพื่อเริ่มต้นผลิตให้ได้เร็วที่สุด โดยกว่า 70% ที่มีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาเป็นบริษัทจากจีน รองลงมาเป็นไต้หวัน ที่เหลือจะกระจายจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น” นายนฤตม์กล่าวในการให้ข้อมูล
ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมาที่มีรัฐประหาร ประชาชน คนงาน พนักงานบริษัทห้างร้าน โรงงานผละงานออกมาชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจเป็นอัมพาต ผลพวงส่งผลให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่น ล่าสุดมีบริษัทขนาดใหญ่จากญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ประกาศถอนการลงทุนในเมียนมา จะมีผลทำให้ไทยได้รับอานิสงส์เป็นตัวเลือกการลงทุนแทนเมียนมาเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น
เรื่องนี้บีโอไอมองว่าอาจมีบ้างบางส่วน แต่ส่วนใหญ่บริษัทที่ไปลงทุนในเมียนมา มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งพลังงาน และวัตถุดิบในประเทศเมียนมา หรือใช้แรงงานที่มีค่าจ้างต่ำ หรือเป็นโครงการในธุรกิจบริการ เช่น การท่องเที่ยว การก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมา โอกาสที่กลุ่มนี้จะย้ายมาไทยเป็นไปได้น้อย เพราะปัจจัยพื้นฐานแตกต่างกัน
อย่างไรก็ดีในมุมเอกชน นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมองว่า นอกจากเวียดนามแล้ว ไทยมีโอกาสเป็นตัวเลือกการลงทุนของต่างชาติที่มีแผนไปลงที่เมียนมา เพราะไทยมีนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน เฉพาะอย่างยิ่งการเป็นฐานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มีสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม ที่ผ่านมาไทยเป็น Regional Hub ด้านการลงทุนในภูมิภาคอยู่แล้ว แต่อาจต้องปรับแก้ในเรื่องกฎหมายต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนให้มากขึ้น รวมถึงการทบทวนอุตสาหกรรมที่จะให้การส่งเสริมให้เหมาะกับสถานการณ์ในยุคโควิดที่ผู้คนมีชีวิตวิถีใหม่(New Normal)ที่เปลี่ยนแปลงไป
จากภาพรวมหลากหลายปัจจัยบวกที่กล่าวมา ต่อเป้าหมายของบีโอไอที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจริงจากนักลงทุนไทยและต่างชาติไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท คงเป็นจริงได้ไม่ยาก
ที่มา : นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 8 ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564