น.ท.สุธีรวัฒน์ สุ วรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้รับจัดสรรงบประมาณ จาก ทอท. รวมทั้งสิ้น 3,660 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการซ่อมแซมทางขับอากาศยาน (แท็กซี่เลน) ซึ่งจะแบ่งการดำเนินการซ่อมออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 วงเงิน 1,427 ล้านบาท ดำเนินการซ่อมแซมพื้นที่ผิวอากาศยานที่มีความชำรุดหนัก ต้องเร่งซ่อมแซม พื้นที่ 2.7 แสนตารางเมตร และระยะที่ 2 วงเงิน 2,233 ล้านบาท ดำเนินการซ่อมแซมพื้นที่ผิวอากาศยานที่เสียหายไม่มาก ไม่เร่งด่วน พื้นที่ 5.1แสนตารางเมตร เนื่องจากในปัจจุบันปริมาณการใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิลดลงอย่างมาก จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ ทอท. ต้องเร่งรัดโครงการซ่อมแซมพื้นผิวทางอากาศยาน หรือทางขับเข้าสู่หลุมจอด(แท็กซี่เลน) ด้วยวัสดุปอร์ตแลนด์ซีเมนต์คอนกรีต เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่จะส่งผลกระทบต่อการทำการบินน้อยที่สุด หากต้องมีการปิดหลุมจอดอากาศยานบางจุด เพื่อทยอยซ่อมผิวทางอากาศยาน
สำหรับการซ่อมแซมระยะที่ 1 วงเงิน 1,427 ล้านบาท นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) และได้เปิดประชาพิจารณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน มี.ค.64 ได้ตัวและลงนามในสัญญากับผู้ชนะประมูลได้ในเดือน มิ.ย. 64 ตั้งเป้าจะเริ่มงานก่อสร้างและปรับปรุงในเดือน พ.ย. 64 ใช้เวลาการดำเนินการ 1 ปี แล้วเสร็จทั้งหมดในเดือน พ.ย. 65 โดยจะมีเริ่มทยอยปิดหลุมจอดครั้งละ 20 หลุมจอดต่อช่วงเวลาทำงานซ่อม 60วัน และจะปิดซ่อมแซมครบทั้ง 120 หลุมจอด ในกรอบเวลาการดำเนินการ 1ปี ทั้งนี้ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำการบิน เพราะช่วงดังกล่าวการทำการบินยังไม่กลับมาเป็นปกติ
ทั้งนี้การดำเนินการซ่อมแซมระยะที่ 2 วงเงิน 2,233 ล้านบาท นั้น คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน ก.ย. 64 เริ่มงานก่อสร้าง ก.ค. 65 ที่เริ่มงานก่อสร้างช้าเนื่องจากไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ซ่อมทั้งหมดให้ผู้รับเหมาในครั้งเดียว ต้องทอยอยส่งมอบ เพราะพื้นที่บางส่วนต้องใช้ คาว่าจะ ใช้เวลาในการก่อสร้างและซ่อมแซม รวมทั้งสิ้น 18เดือน แล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.66 ขณะเดียวกันโครงการซ่อมแซมแท็กซี่เลนทั้ง 2 ระยะ เป็นงบประมาณต่อเนื่องที่จะใช้ในการดำเนินการซ่อมแซมช่วง ปี 63-66 นอกจากซ่อมผิวทางใหม่แล้ว โครงการจะครอบคุลมงานก่อสร้างระบบระบายน้ำใต้ดินด้วย เมื่อแล้วสร้างเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางขับเข้าสู่หลุมจอดได้มากขึ้น เพราะผิวทางใหม่ที่ปรับปรุงจะทำจากวัสดุปอร์ตแลนด์ซีเมนต์คอนกรีตที่มีความแข็งแรงกว่าวัสดุเดิมที่ทำจากยางแอสฟัลท์ ที่อ่อนนุ่ม ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาน้ำใต้ดินซึมบนผิวทางขับได้