ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังกลุ่มโอเปกพลัสปรับลดการผลิต

09 มี.ค. 2564 | 05:55 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2564 | 12:57 น.

สนพ.เผยแนวโน้มราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น จากกลุ่มโอเปกพลัสปรับลดการผลิต

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ
ว่ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) มีมติขยายเวลาการปรับลดการผลิตที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรล/วัน ไปจนถึงเดือนเมษายน 64 อีกทั้งซาอุดีอาระเบียยังอาสาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล/วัน ต่อไปอีก 1 เดือน ไปสิ้นสุดเดือนเมษายน 64 ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าโอเปกพลัสจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนเมษายน 64 ที่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน

รวมทั้งข่าวกลุ่มกบฏฮูตีของเยเมนยิงโดรนและขีปนาวุธเพื่อหวังโจมตีแห่งอุตสาหกรรมน้ำมันของซาอุดีฯ โดยยิงถังเก็บน้ำมันที่ท่าเรือรัสทานูรา ซึ่งหนึ่งในเมืองท่าน้ำมันใหญ่ที่สุดในโลก และโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทซาอุดี อารามโค นอกจากนี้อุปสงค์น้ำมันยังได้แรงสนับสนุนจากความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติผ่านร่างกฎหมายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 (COVID-19) มูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมัน สรุปได้ดังนี้ ภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (1-7 มีนาคม 64) ราคาน้ำมันดิบดูไบ  เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.28 เหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.16 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 62.32 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.05 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

วัฒนพงษ์ คุโรวาท

ประเทศจีนรายงานตัวเลขอัตราการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 64 ระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น อยู่ที่ 63.1 ล้านบาร์เรล กลุ่มประเทศโอเปกพลัส คงกำลังการผลิตไปจนถึงเดือนเมษายน 64 จากความไม่แน่นอนของอุปสงค์ที่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และซาอุดีอาระเบียยังอาสาจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล/วัน ต่อไปอีก 1 เดือน ในเดือนเมษายน

ส่วนราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชียนั้น ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 71.64 ,70.14 และ71.58 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.43 ,0.23 และ 0.32 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในภูมิภาคในระดับต่ำ การรายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ (3 มีนาคม 64) เพิ่มขึ้น 0.42 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 15.91 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์

ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 69.95 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.28 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากอุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการส่งออกของประเทศอินเดีย จีน และ ภูมิภาคตะวันออกกลาง โดย Platts คาดจีนส่งออกในเดือนมีนาคม 64 ปริมาณ 17.25 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 11 เดือน

ค่าเงินบาทของไทย อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.33 บาท/เหรียญสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 30.5206 บาท/เหรียญสหรัฐฯ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.07 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลลดลง 0.10 บาท/ลิตร) ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.23 บาท/ลิตร (รวมค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจากศรีราชา - กรุงเทพฯ 0.71 บาท/ลิตร) และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.51 บาท/ลิตร   
              “ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วันที่ 7 มีนาคม 64 กองทุนฯ มีสินทรัพย์รวม 5.78 หมื่นล้านบาท หนี้สินกองทุนฯ 3.38 หมื่นล้านบาท ฐานะกองทุนฯ สุทธิ 2.4 หมื่นล้านบาท (บัญชีน้ำมัน  3.49 หมื่นล้านบาท บัญชี LPG  -1.08 หมื่นล้านบาท)”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :