นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไตรมาส 2/64 ว่า ความเห็น 60.4% มีความมั่นใจต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนจีนในไตรมาสที่ 2 /64 ที่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แม้จะประสบปัญหาจากการระบาดโควิด-19 (Covid-19) ตั้งแต่ต้นปี 2563 ประกอบกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจจีนในปี 64 จะโตมากกว่า 8.1% ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกและนำเข้าระหว่างไทยจีนที่จะฟื้นตัวมากขึ้น
“ปี 64 เป็นปีที่ครบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และยังเป็นปีเริ่มต้นของการดำเนินงานแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568 ) และจากการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนในช่วง วันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ยังได้กำหนดเป้าหมายหลักในแผนดังกล่าวโดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ คาดว่าจีดีพี (GDP) จะเติบโตมากกว่า 6 %และ สามารถสร้างงานกว่า 11 ล้านตำแหน่งในเขตเมือง ฯลฯ และ 5 ปีข้างหน้าจีนจะยังคงส่งเสริมระบบพหุภาคี และจับมือกับพันธมติรทั่วโลกเพื่อส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันจึงเป็นสัญญาณที่บวกต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกซึ่งรวมถึงไทยอีกด้วย”
ทั้งนี้ผลสำรวจกว่า 54.3% จึงมองว่าการส่งออกจากไทยไปจีนจะเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง และ51.3% คาดว่าการนำเข้าของไทยจากจีนเริ่มเห็นทิศทางการฟื้นตัวเช่นกัน ขณะที่การลงทุนในไทยจากผลสำรวจ 81%ให้ความเห็นถึงแนวโน้มการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจีนจะไม่ลดลง และมีทิศทางที่จะเพิ่มขึ้นขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้าประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันเป็นผลมาจากมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมถึงการมีวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 รอบใหม่ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจีนได้เริ่มมีการฉีดให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจรายสาขา ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปีนี้ จากการสำรวจให้น้ำหนักและมีความมั่นใจใน ธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจพืชผลการเกษตร ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจบริการสุขภาพ และธุรกิจเกษตรแปรรูป ทั้งนี้การคาดการณ์ต่อสถานการณ์ต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 64 พบว่า 49.9% ของผู้ให้ข้อมูลคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตอยู่ระหว่าง 1.5-2.5%
โดยผู้ให้ข้อมูลยังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยใน 5 ด้าน ประกอบไปด้วยการระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคระบาดใหม่โควิด-19 ที่ต่อเนื่อง ไปจนถึงปี 65 ปัญหาที่เกิดจากเสถียรภาพทางการเมืองโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะตกต่ำต่อเนื่อง หนี้ภาครัฐและหนี้ภาคครัวเรือน และประสิทธิภาพของวัคซีน
นอกจากนี้ตามความเห็น 82.4% ของผู้ตอบคำถามเห็นด้วยว่าการฉีดวัคซีนจะมีส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย และ52.8% เห็นด้วยว่าหากต่างชาติได้รับการฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางมายังประเทศไทยได้โดยไม่ต้องรับการกักตัว ส่วนการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เชื่อว่าจะนำไปสู่การปรับนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ผู้ให้ข้อมูล 47.9%ประเมินว่าไม่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย ขณะที่ 37.2% คิดว่าจะส่งผลทางบวกต่อเศรษฐกิจไทย
“ผลการสำรวจดัชนีเชื่อมั่นในไตรมาส 1และไตรมาส 2 เห็นแนวโน้มการขยายตัวทางการค้าไทยและจีนอย่างต่อเนื่องซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนโดยเดือนมกราคม 64 การค้าไทย-จีนมีมูลค่า 7,579 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 6.11% โดยไทยส่งออกไปจีนมีมูลค่า 2,314 ล้านเหรียญสหรัฐ”
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความเชื่อมั่นฯ 85.09% เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน โดยเห็นว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จึงสนับสนุนแนวทางการออกมาตรการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว และต้องการเข้ามาท่องเที่ยวและผักผ่อนในประเทศไทยโดยขอให้ภาครัฐบาลเร่งรัดการประกาศนโยบายออกมาให้ชัดเจนเพื่อผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งหลายจะได้มีเวลาเตรียมตัวและนักท่องเที่ยวต่างชาติดังกล่าวจะได้มีเวลาวางแผนการท่องเที่ยวล่วงหน้า
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า การสำรวจดังกล่าวเป็นการดำเนินการของหอการค้าไทย-จีน และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นด้วยการสำรวจความเห็นในรูปแบบออนไลน์ไปยังคณะกรรมการหอการค้าไทย-จีน เครือข่ายสมาพันธ์หอการค้าไทย-จีน และสมาคมธุรกิจต่างๆ กว่า 60 สมาคม ตลอดจนกลุ่มธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง และ ขนาดใหญ่และชาวจีนโพ้นทะเล ผ่านการประมวลผลข้อมูล Google Survey From โดยแบบสอบถามประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
1.ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจไทย-จีน ,2.ตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจไทย ,3.ตัวชี้วัดปัจจัยเกื้อหนุน และ4.ประเด็นเฉพาะกิจ หรือเหตุการณ์ จำนวน 409 คน ระหว่างวันที่ 18 - 26 กุมภาพันธ์ 64
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :