นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชน เกี่ยวกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand Long-Term Strategies on Climate Chang Mitigation) เพื่อวางแนวทางในการจัดทำแผนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย สำหรับเข้าร่วมการประชุม COP26 ในช่วงปลายปี 2564 ซึ่งสหราชอาณาจักรและอิตาลีจะเป็นเจ้าภาพร่วม
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนใน 6 ด้าน ได้แก่ 1. การปรับพอร์ตการผลิตไฟฟ้าและการใช้เชื้อเพลิงสู่ Low Carbon ,2. การเพิ่มสัดส่วนยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) ,3. การบริหารจัดการของเสีย ผ่านโมเดลบีซีจี ,4. การใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดคาร์บอนต่ำ ,5. การมุ่งสู่ Zero Burn และ Smart Farming ผ่านโมเดลบีซีจี และเทคโนโลยีดิจิทัล และ6. การดักจับ กักเก็บ ใช้ประโยชน์และเทคโนโลยีไฮโดรเจน พร้อมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ไปจัดทำข้อมูล แผนการดำเนินการ
นอกจากนี้ ยังกำหนดเป้าหมายของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2 เป้าหมายสำคัญ คือ 1. เป้าหมายของปีที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในระดับสูงสุด (peaking year) และ 2. เป้าหมายของปีที่ประเทศไทยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ( net zero emission year) ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถนำข้อมูลและแผนการดำเนินงานต่างๆ เสนอต่อรัฐบาลได้ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 นี้
อย่างไรก็ดี การจัดทำแผนงานดังกล่าว กระทรวงพลังงานจะเป็นเจ้าภาพหลักในด้านการปรับพอร์ตการผลิตไฟฟ้าและการใช้เชื้อเพลิงสู่ Low Carbon ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนจะมุ่งเน้นเป้าหมายการสร้างความสมดุลของการบริหารจัดการเชื้อเพลิงสอดประสานกับการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการลดการปล่อยการเรือนกระจกของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรมชาติ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กรมองค์การระหว่างประเทศ และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :