นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายก สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” หลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่าง องค์การคลังสินค้า (อคส.) กับ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทย ตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ “ตลาดนำการผลิต” รวมถึงนโยบาย กระทรวงพาณิชย์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ตลอดจนนโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนด้านการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทย โดยมีข้อตกลงร่วมกันดังนี้
1. องค์การคลังสินค้า จะส่งเสริม เพิ่มโอกาสและช่องทางด้านการตลาดให้กับสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย
2. องค์การคลังสินค้าขอซื้อข้าวสารจากสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย โดย สมาคมฯเป็นผู้แปรรูปจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสารให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน
3. สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย จะส่งเสริมให้สมาชิกของสมาคมดำเนินการเพาะปลูกข้าวให้ได้คุณภาพ
สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยขอขอบคุณองค์การคลังสินค้าเป็นอย่างยิ่ง ที่ให้ความสำคัญกับสมาชิกสมาคมชาวนา ทั้งนี้สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยมีความพร้อม และสามารถที่จะให้ความร่วมมือตามข้อตกลง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยภายใต้ข้อตกลงนี้ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามข้อตกลง และสืบเนื่องจากการลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และ กำแพงเพชร ในช่วงวันที่ 20-22 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา
“สมาคมฯ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับ สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และ กลุ่มโรงสี เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ข้าวพื้นนุ่ม” พันธุ์ กข79 กข87 และ “พื้นแข็ง” พันธุ์ กข85 ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี โดยเกษตรกรในพื้นที่จำนวนมากให้ความสนใจ และสมาคมฯยังได้ประสานงานจัดหาเมล็ดพันธุ์จากสมาคมผู้รวบรวมฯ เพื่อให้เกษตรกรได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีไปเพาะปลูก โดยมีโรงสีในพื้นที่ร่วมสนับสนุนรับซื้อผลผลิต”
ทั้งนี้ชาวนาต่างทราบดีว่าไม่ได้มีเพียงข้าวไทยรายเดียวที่ขายในตลาด การแข่งขันกับต่างประเทศนั้นสูงมาก และแม้เราจะมั่นใจว่าข้าวไทยนั้นดีและมีคุณภาพสูง แต่หากตลาดไม่สู้ด้านราคา การส่งออกก็จะมีปัญหาได้ ดังนั้นเราจึงต้องจำเป็นที่จะต้องกลับมาเน้นที่ปัจจัยพื้นฐานด้านการเพาะปลูก เช่นเรื่องพันธ์ุข้าว แหล่งน้ำ และดิน ตามลำดับ
นายปราโมทย์ กล่าวว่า พันธุ์ข้าวของไทยมีอัตลักษณ์และความโดดเด่นหลากหลายพันธุ์ โดยปัจจุบันกรมการข้าว และ สถาบันต่างๆได้มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว และมีพันธุ์ข้าวหลายพันธุ์อยู่ในมือ แต่ทั้งนี้ควรที่จะทำอย่างไรให้พันธุ์ที่ได้รับการยอมรับที่ตอบโจทย์ทั้งตลาดและชาวนา มารวมอยู่ในการดูแลของกรมการข้าว เพื่อได้มีการติดตามดูแล พัฒนา คัดสายพันธุ์ และประเมินอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อยอดอยู่เสมอ ไม่ขาดตอน
ทั้งนี้ขั้นตอนในการรับรองต้องรวดเร็วชัดเจนและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งควรมีการให้ผลตอบแทนแก่นักวิจัย นักวิชาการ ที่คิดค้นและพัฒนา อย่างเหมาะสม ทั้งนักวิจัยของกรมการข้าว และนักวิจัยอิสระของสถาบันการศึกษาต่างๆ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมเพื่อเป็นการส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจให้มีการพัฒนาพันธุ์ใหม่และต่อยอดพันธ์ุเดิมอยู่ตลอด โดยรัฐควรเข้ามาอุดหนุนงบประมาณด้านการพัฒนา วิจัยพันธุ์ข้าวแก่กรมการข้าวเพิ่มขึ้น เพราะหากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งแล้วเราลงงบประมาณในส่วนนี้น้อยไปหรือไม่ และหลังจากได้พันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์ชาวนาและตลาดแล้วควรส่งเสริมให้เกษตรกรนำมาใช้ โดยให้ศูนย์ข้าวชุมชน และสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว นำพันธ์ุที่ได้จากกรมการข้าวไปทำพันธุ์ขยายและพันธุ์จำหน่ายให้แก่เกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนเรื่องของแหล่งน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงที่ตื้นเขินควรที่จะเร่งดำเนินการก่อนที่ฝนจะมา เพื่อรับน้ำได้ทันสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกนี้ อีกทั้งต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดิน เช่นควรมีข้อมูลพื้นฐานเรื่องดิน การสำรวจดินแต่ละพื้นที่ว่าขาดแร่ธาตุอะไร ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ว่าดินในพื้นที่เพาะปลูกของตนมีแร่ธาตุชนิดได้ขาดเกินอย่างไร โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อเตรียมดินสำหรับเพาะปลูก
โดยประชาสัมพันธ์ให้ชาวนารู้ว่าควรใช้ปุ๋ยประเภทใดตรงกับดินของตนให้ตรงจุด สามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้มากกว่าการเตรียมดินโดยขาดข้อมูลอย่างไรก็ดีสมาคมฯ ต้องขอขอบคุณ หน่วยราชการต่างๆ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่สมาคมฯได้เข้าไปขอความอนุเคราะห์ในเรื่องต่างๆ ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับเกษตรกร
ด้าน นายรังสรรค์ สบายเมือง นายก สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่เกษตรกรได้มีการรวมตัวทำการตลาดเอง และจะมีแหล่งที่ขายข้าวที่ได้ราคา หวังว่า โครงการแบบนี้ จะผ่านไปได้ด้วยดี และจะได้เป็นโมเดลให้เกษตรกรที่มีอยู่ทั่วไทย ได้นำไปใช้เป็นแบบอย่าง เพื่อการพัฒนาในอาชีพเกษตรกรรมการทำนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน ต่อไป
เช่นเดียวกับนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายก สมาคมส่งออกข้าวไทย กล่าวดีใจด้วย ที่เห็นชาวนาจะสามารถขายข้าวได้ในราคาที่ดี เป็นสิ่งที่ถูกต้อง สามารถหาผู้ซื้อมาซื้อวัตถุดิบได้เลย ก่อนปลูก ก็รู้เลยว่าขายได้ เป็นเรื่องที่ดี และเห็นด้วย พร้อมสนับสนุน สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าตามที่ผู้ซื้อต้องการ และตกลง กัน เมื่อมีคนผลิตก็มีคนซื้อก็จบ ส่วน อคส. หากไปทำข้าวถุง จะต้องสร้างแบรนดดิ้งให้ดี ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดีได้ผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเห็นด้วย และสนับสนุน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อคส. จับมือสมาคมชาวนา นำร่องส่งออกข้าวพื้นนุ่ม
เปิดรับสมาชิกชาวนา ปลูกข้าวตามออร์เดอร์
“ชาวนา” ดัดหลังพ่อค้าขายข้าวตรง อคส.
ส่อง แผน “ปฏิวัติชาวนา” ยุค “โควิด-19”
ลุยปฏิวัติชาวนา ปลูกข้าวตามออร์เดอร์ ดึง 5 หมื่นไร่ร่วมวง