นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า มีแนวคิดในการนำมาตรการการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response : DR) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มีความยืดหยุ่น (Flexibility Resource) ประเภทหนึ่งมีต้นทุนต่ำ และเป็นทางเลือกลำดับแรกที่จะเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าภายในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (แผนแม่บทฯ) และแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทยในระยะสั้น พ.ศ. 2560-2564 (แผนขับเคลื่อนฯ)
ทั้งนี้ จึงได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อนำร่องการพัฒนาธุรกิจการตอบสนองด้านโหลดอันเป็นหนึ่งในโครงการที่มีเป้าหมายการดำเนินการภายใต้แผนแม่บทฯ และแผนขับเคลื่อนฯ ด้านสมาร์ทกริด โดยมุ่งหวังให้เกิดการมีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงาน และใช้กลไกด้านราคาเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (ช่วงพีค) ซึ่งจะเริ่มนำร่องในกลุ่มผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ โดยตั้งเป้าการลดใช้ไฟฟ้าจากมาตรการ DR ให้ได้ 50 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโปรแกรมการตอบสนองด้านโหลดที่เหมาะสมในประเทศไทยก่อนใช้จริงต่อไป หวังเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพและมั่นคง พร้อมจัดแคมเปญ ลดใช้ได้เพิ่ม”
นายวัฒนพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันสถานการณ์และทิศทางด้านพลังงานทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ที่สำคัญ (Energy Transformation) การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าได้ส่งผลต่อรูปแบบและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภค เช่น เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ ที่ผู้บริโภคสามารถผลิตพลังงานใช้เองได้ จึงทำให้การบริหารจัดการพลังงานมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และอาจส่งผลต่อความผันผวนของระบบไฟฟ้าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กระทรวงพลังงานจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและเกิดความมั่นคง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :