ในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 ได้ให้น้ำหนักการหารือถึงการจัดเก็บรายได้ของประเทศเป็นพิเศษ โดยกระทรวงการคลังรายงานภาพรวมเศรษฐกิจที่จัดเก็บรายได้ไม่ได้ตามเป้าเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีรายได้ 2.33 ล้านล้านบาท แต่รายจ่ายสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามที่ประชุม ครม.ไม่มีข้อสรุป ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงการคลังกลับไปศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างของภาษีทั้งหมด
ผศ. ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย มองว่า ในระยะสั้น การจัดเก็บภาษีเพิ่มอาจเป็นไปได้ โดยที่ไม่ต้องปรับขึ้นอัตราภาษี ไปมุ่งเน้นด้านประสิทธิภาพการจัดเก็บ ด้วยการนำผู้ที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการยื่นภาษีด้วยเทคโนโลยี และเก็บภาษี E-Commerce อย่างตรงจุด
อย่างไรก็ตาม ต้องกลับมาดูภาพใหญ่ของฐานะการเงินประเทศไทยว่าเข้าขั้นวิกฤติแล้วหรือยัง ในปัจจุบันเราใช้งบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องกันมาเกิน 10 ปีแล้ว และงบประมาณปี 2565 ที่ครม.กำลังพิจารณา คาดว่าจะขาดดุลกว่า 7 แสนล้านบาท หากดูเฉพาะฝั่งรายได้ จะเห็นว่ารายได้กลายเป็นขาลงในช่วงปี 2563-2565 เพราะการท่องเที่ยวหยุดชะงัก แต่แน่นอนว่ารายจ่ายเพิ่มขึ้นมหาศาล ต้องกู้เงินมาช่วยเหลือเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
หลายประเทศเผชิญสถานการณ์เดียวกัน ประเทศไทยอาจดีกว่าที่อื่นด้วยในแง่ของสัดส่วนหนี้สาธารณะ อย่างประเทศสหรัฐอเมริกามีหนี้สาธารณะสูงทะลุ 100 % ต่อ GDP ในขณะที่ประเทศไทย ขยับไปอยู่ใกล้ ๆ 60% ต่อ GDP ซึ่งเป็นระดับเพดานหนี้สาธารณะที่ไม่ควรเกินจากนี้ แต่การมีวินัยชำระหนี้อย่างเดียวไม่ยั่งยืนเพราะดอกเบี้ยจะยิ่งทบต้นทบดอกไปเรื่อย ๆ ในปี 2566 เป็นต้นไป ภาครัฐควรพิจารณาลดการขาดดุลงบประมาณลง เพื่อให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ถอยลงมาห่างจากเพดานมากขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ประเทศที่สัดส่วนหนี้สาธารณะสูง ต้องดูว่าหากเป็นประเทศที่รวยก็ไม่น่าห่วง เปรียบเสมือนคนรวย มักมีหนี้เยอะกว่าคนจน แต่ก็มีความสามารถในหาเงินมาชำระหนี้ได้ ส่วนคนจนเป็นหนี้เยอะไม่ได้ เพราะความน่าเชื่อถือต่ำ และความสามารถในการหารายได้ยังไม่ดีพอ ถ้าเราปล่อยให้หนี้สูงเป็นระยะเวลานาน ประเทศจะขาดความน่าเชื่อถือ และดันให้อัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมสูงขึ้น ถึงจุดหนึ่ง เราอาจไม่สามารถมีหนี้เพิ่มได้อีก เพราะสุดกรอบวินัยการเงินการคลังแล้ว” ผศ. ดร.นิพิฐ กล่าว
เมื่องบประมาณของประเทศติดลบหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี การกลับมาสู่จุดสมดุลจึงเป็นไปได้ยากมาก แต่การมีงบประมาณแบบสมดุลดีจริงหรือไม่ ผศ. ดร.นิพิฐ กล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่บนโลกนี้เห็นด้วยกับงบประมาณแบบขาดดุลมากกว่า เพราะ รัฐมีหน้าที่ใช้จ่ายให้คนในประเทศกินดีอยู่ดีมากขึ้น ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจหนัก ๆ ในอดีตตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศที่แพ้สงครามมีหนี้มหาศาล แต่ก็กลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วยนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ส่วนประเทศในโลกที่สามารถจัดทำงบประมาณแบบสมดุลได้ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากไม่มีหนี้อยู่แล้วเป็นทุนเดิม มีเงินฝากจำนวนมากเพราะเป็นศูนย์กลางทางการเงิน และที่สำคัญคือมีการผลิตสินค้ามูลค่าสูง ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องฝืนการหารายได้ให้มากขึ้นเพื่อไปให้เท่ากับรายจ่ายที่เกิดขึ้น หากฝืนเพิ่มรายได้เท่ากับต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นมหาศาล กระทบประชาชนแน่นอน อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ยังรักษาระดับการก่อหนี้ไม่ให้สูงเกินเพดาน
ผศ. ดร.นิพิฐ เสริมด้วยว่า การที่รัฐบาลมาอยู่ในบทบาทเป็นผู้กู้รายใหญ่ เสมือนเป็นการแย่งการออมภาคเอกชน หรือศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Crowding Out โดยปกติเอกชนจะกู้เงินไปเพื่อลงทุนซื้อเครื่องจักร จ้างงานภาคการผลิต แต่เมื่อถูกแย่งเงินลงทุนไป ทำให้มีการสะสมทุนลดลง ก็ยิ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันระยะยาวลดลง
ดังนั้น ต้องกลับมามองว่า เงินที่ภาครัฐระดมทุนไปนำไปใช้ให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่าหรือไม่ วิธีการเพิ่มรายได้ที่ยั่งยืนที่สุด คือการเพิ่มศักยภาพการผลิตไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เร่งสร้างรายได้ต่อหัวให้มากขึ้น ลำพังภาคบริการหรือท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่สามารถช่วยยกระดับประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ เนื่องจากประเทศไทยจะมีประชากรน้อยลงเรื่อย ๆ ตามสังคมสูงวัย หวังว่าจากวิกฤติรอบนี้ที่รัฐบาลกู้เงินมหาศาล จะมีเม็ดเงินส่วนหนึ่งลงสู่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาฝีมือแรงงานให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอนาคต