ไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ กดดันการรับซื้อภาครัฐหด

06 เม.ย. 2564 | 05:50 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2564 | 12:56 น.

การผลิตไฟฟ้าและการบริโภคไฟฟ้าปี 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2 – 3% ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ในช่วง 3 - 4 ปีข้างหน้ายังสูง เกินกว่ามาตรฐานสากล 15% ส่งผลการรับซื้อไฟฟ้าในประเทศของภาครัฐลดลง ยกเว้นโรงไฟฟ้าที่จำเป็น หรือกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และมีต้นทุนที่ถูก ผลักดันผู้ประกอบการหันลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในอาเซียน

นายโอภาส ใจเครือคำ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ที่อยู่ในระดับสูงมาก และสูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ประมาณ 15% โดยข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุว่าในเดือน ธ.ค. 2563 ประเทศมีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 45,480 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปี 2563 ที่ 28,637 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึง 37% หรือ 27% เมื่อหักส่วนนำเข้าไฟฟ้าออกไป

 

ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ที่ ครม. เห็นชอบในวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ระบุถึง กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจะอยู่ในระดับสูงไปอีก 3 -  4 ปี แล้วค่อยลดลง ซึ่งสถานการณ์นี้ กดดันไม่ให้กระทรวงพลังงานประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้มากนักในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากจะเป็นโรงไฟฟ้าที่จำเป็น หรือกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ต้นทุนถูก และทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่ปลดระวางลง เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน โรงไฟฟ้าขยะ โซลาร์รูฟท็อป และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ คาดว่าภาครัฐจะมีการปรับปรุง แผน PDP 2018 Revision 1 เร็วๆ นี้ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่นำมาพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าตามแผนฯ นั้นสูงกว่าความเป็นจริงมากเพราะยังไม่ได้รวมผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19

ไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ กดดันการรับซื้อภาครัฐหด

ที่มา : แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

 

โรงไฟฟ้าชุมชนแข่งขันสูงและเสี่ยงขาดวัตถุดิบในอนาคต

 

กระทรวงพลังงานได้วางเกณฑ์ฯ รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนภายในปีนี้ เริ่มต้นตั้งแต่เดือน เม.ย. โดยการไฟฟ้าจะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน และในเดือน มิ.ย. จะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือน ก.ย. 2567 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า โดยเบื้องต้นกำหนดเป้าหมายการรับซื้อไว้ที่ 150 เมกะวัตต์ แยกเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล (Biomass) 75 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน (Biogas) 75 เมกะวัตต์ ใช้วิธีคัดเลือกการขายไฟฟ้าด้วยการเปิดให้แข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) ในการเสนอส่วนลดค่าการลงทุนโรงไฟฟ้า ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เข้าร่วมโครงการจะต้องใช้เชื้อเพลิงจากวัตถุดิบที่เกิดจากการปลูกพืชใหม่เท่านั้น เช่น ไม้โตเร็ว และไผ่ เป็นต้น รวมถึงเพิ่มการใช้หญ้าเนเปียร์สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนการจัดหาเชื้อเพลิงกำหนดให้ผู้ประกอบการทำ Contract farming กับเกษตรกร80% และอีก 20% ให้จัดหาได้เอง

ไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ กดดันการรับซื้อภาครัฐหด

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่าการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะเกิดขึ้นในปีนี้ และจะมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ค่อนข้างได้เปรียบเนื่องจากเป็นการแข่งขันในรูปแบบ Competitive Bidding ในการเสนอส่วนลดค่าการลงทุนโรงไฟฟ้า และผู้ประกอบการรายใหญ่มีต้นทุนทางการเงินต่ำ จึงสามารถเสนอส่วนลดได้มากกว่าอย่างไรก็ตามโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่กำลังเกิดขึ้นจะมีความเสี่ยงสูงจากการขาดแคลนวัตถุดิบหรือราคาวัตถุดิบสูงขึ้นในอนาคต  แม้ได้ทำ Contract farming กับเกษตรกร (รับซื้อจากวิสาหกิจชุมชน 80% และให้จัดหาเองได้อีก 20%) ก็ตาม  เนื่องจากเป็นสินค้าเกษตรซึ่งผลผลิตไม่มีความแน่นอน และเกษตรกรจะให้ความสำคัญกับราคาสินค้าเป็นหลัก เช่นเดียวกับ

สถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาที่ผลผลิตทางการเกษตรลดลง โดยเฉพาะอ้อย ทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลต้องหันไปซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลอื่นทดแทน และส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง