สอดคล้องกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 1/2564 เริ่มฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น และจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2/2564 โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตเพื่อส่งออก ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ด้วยงบประมาณ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะมีการแจกเงินให้กับประชาชนเพิ่มเติมอีกคนละ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้บริโภค
นอกจากนี้ ยังมาจากความสำเร็จของสหรัฐฯในการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนแล้ว 100 ล้านโดสภายใน 40 วันของการเข้ารับตำแหน่ง จากเดิมที่ตั้งเป้าจะฉีดให้ครบภายใน 100 วัน อีกทั้งยังจะระดมฉีดอีก 200 ล้านโดสให้ครบ 300 ล้านโดสครอบคุลมจำนวนประชากรของสหรัฐฯ โดยที่การดำเนินการดังกล่าวหากทำได้เร็วก็ยิ่งช่วยให้ชาวอเมริกันมีความปลอดภัย ซึ่งผลที่ตามมาก็คือความเชื่อมั่น และเกิดเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ตามทฤษฎีทางการแพทย์ โดยจะส่งผลดีให้เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
จากการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนของสหรัฐฯข้างต้นส่งผลให้ไทยได้รับได้รับอานิสงส์ทางด้านของการส่งออก จากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยโดยจะส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมทางด้านการแพทย์ ทั้งหน้ากากผ้าอนามัย, ถุงมือยาง, ชุดPPE, อุปกรณ์การแพทย์ หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน เช่น ยางรถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เป็นต้น
นายเกรียงไกร ยังให้ความเห็นถึงประเด็นเรื่องความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาระบาดของโรคโควิด-19 ในเวลานี้ว่า น่าจะมีผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากเกิดขึ้นเฉพาะประเทศในแถบยุโรป โดยปัจจุบันมี 3 ประเทศได้แก่ อิตาลี เยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งมีการระบาดระลอกสาม และมีมาตรการล็อกดาวน์ ไม่ใช่ทุกประเทศ โดยประเทศดังกล่าวไม่ใช่ตลาดส่งออกหลักของไทย ขณะที่หากจีน กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยฟื้นตัวได้ดี ยอดการส่งออกของไทยก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ภาคการส่งออกไทยกลับมาฟื้นตัวได้ดีก็คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง หลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งขึ้น ปัจจุบันค่าเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 31.25-31.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอ่อนค่ามากสุดในภูมิภาคประมาณ 4% และมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยหากอ่อนค่าไปถึงระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะเป็นส่วนที่ช่วยชดเชยค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลน ทำให้ผู้ส่งออกมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น ซึ่งในปีนี้หลายองค์กรทางด้านเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยน่าจะขยายตัวได้ 6-8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี หากไม่รวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและบริการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงก็คือ แฟชั่น เสื้อผ้า อัญมณีและเครื่องประดับ โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ และอุตสาหกรรมค้าปลีก ซึ่งมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยส่งผลทำให้ห้างสรรพสินค้าจากเดิมที่จะมีปริมาณผู้บริโภคอยู่หนาแน่นลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และไปหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แทน
“อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคาดว่าจะยังแย่ไปจนถึงปี 2567 ซึ่งคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาได้จากแผนการดำเนินการฉีดวัคซีน โดยประเด็นที่ต้องติดตามก็คือแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนที่ชัดเจน ซึ่งสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น สบู่ ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า สินค้าหัตถกรรมที่ใช้ในโรงแรมต่างก็ได้รับผลกระทบกันไปทั้งหมด”
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :