นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กล่าวว่า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมี.ค. 2564 เท่ากับ 110.2 เทียบกับเดือนมี.ค. 2563 สูงขึ้น 5.4% และสูงขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเหล็กและ ผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งสูงขึ้นถึง 23.7% รวมทั้งพบว่า เมื่อเทียบเดือนก.พ.2564 ก็พบว่าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 0.5% โดยมีปัจจัยจากการที่หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้น 0.8% และจากการที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้ไตรมาส 1ของปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีที่แล้วสูงขึ้น 4.4% โดยมีปัจจัยจากการสูงขึ้นของ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้น 21.2 % เช่นกัน และเมื่อเทียบไตรมาส 1ของปีนี้กับไตรมาสก่อนหน้านี้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างก็สูงขึ้น 4.2% โดยมีปัจจัยที่ดันให้ดัชนีสูงขึ้นคือจากการที่หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นถึง 19.1 %
สำหรับราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู ข้อต่อเหล็ก และเมทัลชีท เนื่องจาก ราคาวัตถุดิบในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวสูงขึ้น อย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง จากนโยบายของ รัฐบาลจีนในการจำกัดการส่งออกเหล็ก และการลดกำลังการผลิตในประเทศจีน ตามแผนแม่บท ปี 2564 เพื่อการลดการปล่อยมลภาวะ ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการในตลาดโลกสูงขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากสถานนการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย
แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ความต้องการของตลาดและต้นทุนของสินค้าวัสดุก่อสร้างหลายประเภทที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านการก่อสร้างที่มีสัญญาณ ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ การบริโภคและการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปของไทย รวมถึง ยอดการจัดเก็บภาษี ธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างภาครัฐภายในประเทศ การปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และการก่อสร้าง ภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ประกอบกับนโยบาย “Made in Thailand” ที่ส่งเสริมให้หน่วยงาน ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศ โดยกำหนดให้งานก่อสร้างใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน เป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กทั้งหมด น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ รวมทั้งความล่าช้าในการกระจายวัคซีน อาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมฟื้นตัวได้ไม่รวดเร็วนัก และยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการก่อสร้าง และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อขายใน 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา และนครศรีธรรมราช ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก กระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 134 รายการ