นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามนโยบาย เรื่อง การใช้พื้นที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)มาทำประโยชน์ให้ประชาชน เวลา 15.00 น. ด้วย Application “Zoom” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง และผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รายงานว่า ปัจจุบัน กทพ. มีเขตทางรวมทั้งหมด ประมาณ 2,900 ไร่ สามารถนำมาใช้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ประมาณ 1,136 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 39.17 โดย กทพ. ได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่บางส่วนเพื่อสาธารณประโยชน์ไปบางแล้ว เช่น การพัฒนาสวนหย่อม สวนสาธารณะ เส้นทางจักรยาน และการจัดทำเส้นทางลัด เป็นต้น สำหรับการพัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กทพ. ได้พิจารณาพื้นที่ที่มีศักยภาพ จำนวน 7 แห่ง ดังนี้
1. บริเวณใต้ด่านอโศก 1 เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ พัฒนาเป็น พื้นที่สีเขียวพร้อมลู่วิ่ง ลานพักผ่อนและกิจกรรม โซนสันทนาการและลานจอดรถ คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้พันธมิตรรับไปพัฒนาได้ในเดือนพฤศจิกายน 2564
2. บริเวณพื้นที่ร่วมบริการทางพิเศษเพลินจิต เนื้อที่ประมาณ 4.5 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่ร่วมบริการ และลานกิจกรรม คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้พันธมิตรรับไปพัฒนาได้ในเดือนกรกฎาคม 2566
3. บริเวณศูนย์บริการทางพิเศษบางโปรง เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ พัฒนาเป็น Service Center ครบวงจร (เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป)
4. บริเวณพื้นที่บริการสังคม ทางพิเศษสีลม เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่ร่วมบริการ และลานกิจกรรม คาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกได้ประมาณเดือนกันยายน 2566
5. บริเวณสถานที่บริการทางพิเศษอุดรรัถยา กม. 16 เนื้อที่ ประมาณ 20 ไร่ พัฒนาเป็น Service Area ครบวงจร (เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป)
6. พื้นที่ทางพิเศษอุดรรัถยา บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต เนื้อที่ประมาณ 98 ไร่ พัฒนาเป็น Park & Ride และโลจิสติกส์ (เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งนี้ อาจพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
7. พื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ พัฒนาเป็น ศูนย์บริการรัฐวิสาหกิจ ร้านค้า Skywalk และพื้นที่สาธารณะ คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกได้ ประมาณเดือนกันยายน 2567
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับทราบ พร้อมกำชับให้ กทพ.ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อสั่งการเพิ่มเติม ดังนี้
1. สำหรับการพัฒนาพื้นที่ ขอให้ กทพ. พิจารณาภายใต้หลักการว่า การพัฒนาจะต้องสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการบริหาร และไม่เป็นภาระต่อภาครัฐ ทั้งนี้ การออกแบบโครงการจะต้องออกแบบให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้พื้นที่ด้วย
2. เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดจากการพัฒนาพื้นที่ ขอให้ กทพ. ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงวัตถุประสงค์ของการพัฒนาให้มีความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการดำเนินการตามที่ได้วางแผนไว้
3. สำหรับพื้นที่ที่การพัฒนาจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ขอให้ กทพ. พิจารณาแนวทางร่วมลงทุนที่เหมาะสมในการดำเนินการ โดยจะต้องมีความชัดเจนทั้งในส่วนของวงเงินการลงทุน และผลตอบแทน
4. สำหรับการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ กทพ. จะต้องจัดทำ Action Plan ให้มีความชัดเจน และจะต้องสื่อสารการดำเนินการตามแผนงานเพื่อสร้างการรับรู้อย่างกว้างขวาง