นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade ประจำไตรมาส 1 ปี2564 ว่า หอการค้า ทำการสำรวจจากผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด จำนวน 116 ตัวอย่าง ทำการสำรวจวันที่ 26 มีนาคม-16 เมษายน2564 พบว่าดัชนีอยู่ที่ 46.3 ต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 ลดจาก 47.3 ในไตรมาส 4/2563 และลดจาก 47.2 ในไตรมาส 1/2563 ซึ่งสัญญาณปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกและต่ำสุดในรอบ 3 ไตรมาส
ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ โมเดิร์นเทรด มาจากความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 และรอบ 3 ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และบริการต่างๆ ความกังวลเรื่องของการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจประสบปัญหา หรือแรงงานขาดรายได้
ด้านการส่งออกหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ภาระหนี้สินของครัวเรือน อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับที่สูงส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ แต่ผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนการขายมาเป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ยังมีการใช้จ่าย
“สถานการณ์ ยังจับจ่ายใช้สอยได้ ยังไม่ปลดคนงาน กำลังซื้อชะลอตามสถานการณ์ ถ้ารัฐกระตุ้นการใช้จ่ายกลับมาจะมีเงินกลับมาสะพัดในระบบ 2-4 แสนล้านบาท”
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ยังเรียกร้องต่อภาครัฐ 1.เร่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรมากขึ้น 2.เปิดเสรีให้เอกชนนาเข้าวัคซีน เพื่อเป็นทางเลือกในการกระจายวัคซีน 3.ออกมาตราการสนับสนุนธุรกิจร้านอาหารรายย่อย และธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ลดลง 4.ออกมาตราการกระตุ้นการ ท่องเท่ียวและการจับจ่าย ภายในประเทศ เช่น มาตรการคนละครึ่ง ที่พบว่าก่อนหน้านี้ได้ผลตอบรับสูงและเร็ว อย่างเฟส 3 ที่กำลังจะออกมานั้นต้องดูวงเงินที่ให้ ระยะเวลาที่ใช้ จำนวนคนที่มีสิทธิ์ จำนวนร้านค้า หากครอบคลุมทุกกลุ่มเพื่อดึงเงินคนที่มีเงินออมมาช่วยคนรายได้น้อย กระจายไปร้านค้า จะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจเร็ว ช่วยเศรษฐกิจได้ 2-3%
ทั้งนี้หากประเมิณผลกระทบจากโควิด-19 รอบ 3 นี้ มาตรการการหยุดกิจกรรมไม่เข้มข้นเท่าปีที่แล้ว แต่จะครอบคลุมไปทุกกลุ่มมากกว่ากระทบระดับ S และ M เช่น หมวดบริการ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร สันทนาการกลางคืนที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ จึงประเมินว่าถ้ายังปิดกิจกรรมในกิจการเหล่านี้ประมาณครึ่งเดือนจะ เสียหาย 3 แสนล้านบาท ปิดเดือนเสียหาย 4.5 แสนล้านบาท ปิด 2 เดือนเสียหาย 6 แสนล้านบาท หากรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นความเสียหายจะลดลงและจะมีเงินหมุนกลับเข้ามามนระบบอีก 2-4 แสนล้านบาท