แนะรัฐตุนอีก 1 ล้านล้าน “กู้เศรษฐกิจ”

09 พ.ค. 2564 | 20:10 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2564 | 12:43 น.

บิ๊ก ส.อ.ท. แนะรัฐตุนเงินอีก 1 ล้านล้าน ฟื้นเศรษฐกิจคู่ขนานเร่งฉีดวัคซีนโควิดระลอก 3 ติงช่วงฉุกเฉินอย่าไปเข้มวินัยการคลังมาก ให้เลียนโมเดลสหรัฐฯ ดันเศรษฐกิจ-กำลังซื้อกลับมาฟื้นตัว    

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกมาตรการแจกเงินเยียวยาประชาชนโดยมี 6 มาตรการ รวมถึงมาตรการในการลดภาระค่าครองชีพอื่น ๆ มองว่าภาพรวมยังเป็นมาตรการเดิมเพียงแต่เอาขึ้นมาทำใหม่ ในช่วงการระบาดของโควิดระลอก 3 และมีการขยายเวลาในการใช้เงิน ถือเป็นมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน โดยเยียวยาคือลดค่าใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทำให้ประชาชนมีรายจ่ายที่ลดลง ขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ทั้งนี้คงต้องดำเนินการไปพร้อมกันกับอีก 2 เรื่องสำคัญคือ 1.การเร่งจัดหาวัคซีนให้ได้มากที่สุด 2.ฉีดให้ครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากรได้อย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันผลกระทบในครั้งนี้ทำให้เอสเอ็มอีขาดสภาพคล่องเหมือนโควิดกับรอบที่ 1 และ 2 แต่มีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นมาตรการที่รัฐบาลทำได้ในช่วงสั้น ๆ ที่ดีที่สุดคือมาตรการที่มีอยู่ข้างต้นที่นำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมกับที่รัฐบาลวางแผนในเรื่องการเร่งฉีดวัคซีนให้เร็ว และคาดว่าเมื่อฉีดวัคซีนไปแล้วก็จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อประคองสถานการณ์ไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นจนสามารถเปิดประเทศได้

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

อย่างไรก็ดีถามว่าเม็ดเงินข้างต้น(ที่ใช้ในแต่ละมาตรการ)ใช้ไปแค่ 1-2 แสนล้านบาท ซึ่งจะพอหรือไม่คงต้องศึกษาความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่าไร ต้องเติมเม็ดเงินหรือไม่ เพราะหากดูในหลาย ๆ ประเทศเขาต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา หรือในยุโรปมีการกู้เงินหรือใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งในส่วนของไทยความเสียหายต่อเศรษฐกิจในแต่ละเดือนมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเม็ดเงินที่ออกมาอาจจะช่วยกระตุ้นได้ แต่อาจจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยความเสียหาย เพราะฉะนั้นอาจจะกระตุ้นไปได้แค่ประคอง แต่อาจจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยความเสียหาย และทำให้เกิดการพลิกฟื้นอย่างแท้จริงได้

“มาตรการที่ทำอยู่ก็ควรจะทำต่อ และถ้าทำได้เร็วก็ดี และบางอันก็ดีอยู่แล้วที่เคยได้ผล ก็ต้องทำต่อ แต่คำถามอยู่ที่ว่าต้องพิจารณาและศึกษาให้รอบคอบว่าตัวเลขของความเสียหายทางเศรษฐกิจกับเม็ดเงินที่เติมกระตุ้นเข้าไปเพียงพอหรือไม่ และคงต้องเตรียมควบคู่กับไป”

ทั้งนี้ ในหลายประเทศเช่นสหรัฐฯ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ได้เติมเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้นำ 4 แสนล้านดอลลาร์มาช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกเงินให้ประชาชน รวม 2 ครั้งแจกเงินให้ชาวอเมริกันแล้วคนละ 2,000 ดอลลาร์ (ครั้งแรกสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ โอนเงินให้ชาวอเมริกันคนละ  600 ดอลลาร์สหรัฐฯ และสมัยโจ ำบเดิน ล่าสุด โอนให้อีกคนละ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อควบคู่มาตรการอื่น ๆ ทำให้ทุกสำนักเห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯในปีนี้จะพลิกฟื้นมาเป็นบวก และโตค่อนข้างมาในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่าน

“สิ่งเหล่านี้เราควรนำเขามาพิจารณาเป็นโมเดล ซึ่งบางครั้งเราจะอ้างเรื่องวินัยทางการคลังที่กรอบการก่อหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ของจีดีพีแต่ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน วิธีคิดทุกอย่างต้องฉุกเฉิน ทำอย่างไรให้รอดก่อน ส่วนเรื่องวินัยการคลัง เรื่องของมาตรการก็ไปแก้กัน ไปหากฎในการคลายล็อกกัน อาจจะขยับสัดส่วนเป็น 65-70% เพราะทุกคนเข้าใจได้”

รัฐบาลคงต้องใช้เงินอีกก้อนหนึ่ง จะมากน้อยขึ้นกับไทยจะสามารถเร่งฉีดวัคซีนและควบคุมการระบาดได้เร็วแค่ไหน เพื่อทำให้การค้า การใช้ชีวิตกลับมาได้เร็วแค่ไหน เพราะยิ่งช้าก็ต้องใช้เงินมาก ถ้าเงินไม่พอก็ต้องกู้ ถามว่าต้องกู้เท่าไรนั้น หากพิจารณาในเวลานี้รัฐบาลยังมีงบอยู่อีกประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งบางทีรัฐต้องกู้อีก 7 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้ได้หรือมีเงิน 1 ล้านล้านบาทเหมือนรอบที่ 1 ซึ่งถ้ากู้ได้ขนาดนี้ถือว่ามีเม็ดเงินพอสมควรที่จะรับมือโควิดและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ สรุปคือคงต้องมีอย่างน้อยอีก 1 ล้านล้านบาท โดยออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,677 วันที่ 9 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564