นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (European Commission) ส่งหนังสือเชิญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็น 1 ใน 6 รัฐมนตรี จากประเทศสมาชิก 194 ประเทศ เตรียมขึ้นเวทีระดับโลกกล่าวสุนทรพจน์ (Testimonial Statement) และเข้าร่วมการเสวนา (Panel Discussion) ในการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูง (High-Level Event) เรื่อง ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSMA) และการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้มอบนโยบายให้กรมประมง ทำงานบรูณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กองทัพเรือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ กับผู้ประกอบการประมงพานิชย์ และชาวประมงพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing)
โดยที่ผ่านมา รัฐบาลไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่และชัดเจน ที่จะขจัดปัญหาการทำประมง IUU เพราะตระหนักดีถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง มิใช่เฉพาะแต่ของไทยแต่หมายถึงทรัพยากรของโลกโดยภาพรวม โดยการแก้ไขปัญหาประมง IUU ได้ถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ได้กำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
“เชื่อมั่นว่าไทยได้วางรากฐานระบบป้องกันการทำประมง IUU ไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. ด้านกฎหมาย 2. ด้านการบริหารจัดการประมง 3. ด้านการบริหารจัดการกองเรือ 4 ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) 5. ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 6. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย” พร้อมกับการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงไทยจนองค์การสหประชาชาติ FAO และสหภาพยุโรป ได้ยกย่องประเทศไทยเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหา IUU อย่างยั่งยืน”
ทางด้านนายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต(ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม (FAO/IFAD/WFP) รายงานเพิ่มเติมว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในครั้งนี้ จะมีการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลและนำเสนอผลการดำเนินงานของประเทศสมาชิกที่ร่วมลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (Port State Measures Agreement หรือ PSMA) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน 2564
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักต่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และส่งเสริมการดำเนินนโยบายของประเทศสมาชิกให้สอดคล้องกับกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSMA) เพื่ออนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรประมงและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน โดยมีนายฉู ดองหยู ผู้อำนวยการใหญ่ของ FAO นายเวอร์จิเนียส ซิงคาวิสเซียส กรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม มหาสมุทรและประมง และ นางแอ๊กเนส คาลิบาต้า ทูตพิเศษเลขาธิการสหประชาชาติด้านระบบอาหารโลก ร่วมกล่าวเปิดการประชุมในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ และในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี FAO และประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะร่วมกันจัดกิจกรรมวันต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย (International Day for the Fight against IUU Fishing)
เพื่อสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการประมงให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU Fishing อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ FAO ได้เชิญรัฐมนตรีจาก 6 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สาธารณรัฐฟิจิ สาธารณรัฐโมซัมบิก สาธารณรัฐเปรู สเปน และประเทศไทย ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ และแถลงผลงานความสำเร็จในระดับประเทศในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย เป็นรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียเพียงประเทศเดียวที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมที่สำคัญระดับโลกในครั้งนี้