การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดผลการประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของระยะทาง 323 กิโลเมตรมูลค่า 7.29 หมื่นล้านบาท 3 สัญญา ปรากฏว่ามีข้อพิรุธหลายประการ ไล่ตั้งแต่ผู้รับเหมาซื้อซองสัญญาละเกือบ 20 ราย แต่กลับยื่นเสนอราคาจริงเพียงสัญญาละ 2 ราย ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นผู้เสนอราคาต่ำสุดล้วนเป็นลักษณะจอยเวนเจอร์ ระหว่างขาใหญ่กับขาใหญ่ด้วยกัน ราคาที่เสนอใกล้กับราคากลางห่างกันเพียงแค่หลักสิบล้านบาทเท่านั้นทั้งนี้เมื่อเทียบกับการประมูลรถไฟไทย-จีน บางสัญญา ราคาผู้ชนะต่ำกว่าราคา กลางมากถึง 1,000-2,000 ล้านบาทจนต้องถอนตัวในที่สุด
ส่อฮั้วทางคู่สายเหนือ
วงในผู้รับเหมาตั้งข้อสังเกตว่าเป็นลักษณะสมยอม หรือฮั้วกันระหว่างผู้รับเหมา ที่สามารถตกลงกันได้โดยไม่ต้องแข่งขันฟันราคา ต่ำกว่าราคากลางมากๆ ทำให้ต้องแบกภาระต้นทุนในภายหลังและในที่สุดขาใหญ่จะกระจายงานให้โดยไม่ต้องวิ่งหางาน อีกข้อสังเกต ผู้ใหญ่ใจดีลงมาจัดแถวผู้รับเหมา แลกผลประโยชน์ตอบแทน 5-7% ตามที่ได้มีผู้รับเหมารายเล็กร้องเรียน เป็นเหตุให้ตัวเลขการเสนอราคาออกมาน่าตกใจดังกล่าว
ทั้งนี้ ทางคู่สายเหนือ มองว่า รายใหญ่ต่างรอโอกาสขณะเดียวกันในฝั่งของรัฐ ต้องการหาผู้รับเหมาที่มีสภาพคล่องตัวจริง สร้างเส้นทางนี้ให้ลุล่วงตามแผนโดยไม่เกิดความล่าช้าท่ามกลางสถานการณ์โควิดหลังทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ล่าช้ามากว่า 60 ปีดังนั้นการจัดระเบียบผู้รับเหมาจึงอาจเกิดขึ้นโดยมีตัวกลาง เจรจาโดยอาจตกลงกันได้ก่อนหน้าที่จะเปิดประมูลโดยเฉพาะการประมูลโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ช่วยให้ลดการสมยอมราคาเพราะผู้รับเหมาสามารถเจรจาต่อรองกันได้ตลอดเวลาและประเมินว่าไม่ต่างจากประมูลทางคู่สายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ที่จะเปิดยื่นเสนอราคาใน2สัญญาเร็วๆนี้
ขาใหญ่ยึดเรียบ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 18-19 พฤษภาคม รฟท. ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ และเสนอราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งยื่นข้อเสนอด้านเทคนิค โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงินก่อสร้างประมาณ 7.29 หมื่นล้านบาท รวม 3 สัญญา พบว่า สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. มีผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย จากผู้ซื้อซองทั้งหมด 17 ราย โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า ITD-NWR ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) หรือ ITD และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด(มหาชน) หรือ NWR เสนอราคา 26,568 ล้านบาท จากราคากลาง 26,599 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 31 ล้านบาท
ขณะที่สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. มีผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย จากผู้ซื้อซองทั้งหมด 18 ราย โดยกิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) หรือ CK และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC เสนอราคาที่ 26,900 ล้านบาท จากราคากลาง 26,913 ล้านบาทต่ำกว่า 13 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 ช่วง ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. มีผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย จากผู้ซื้อซองทั้งหมด
16 ราย โดยกิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE เสนอราคาที่ 19,390 ล้านบาท จากราคากลาง 19,406 ล้านบาท ต่ำกว่า 16 ล้านบาท
9 ก.ค.ได้ผู้ชนะ
รายงานข่าวจากรฟท. ระบุว่า หลังจากนี้คณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติ ประเมินคุณสมบัติด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านราคา โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคาได้ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 และหากไม่มีการยื่นอุทธรณ์ใดๆ จะสามารถลงนามในสัญญาการดำเนินโครงการได้ประมาณวันที่ 2 สิงหาคม 2564 คาดว่าโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี ก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571
ทั้งนี้หากดูจากผลงานในเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) ของโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีเพียงแค่ 5 บริษัท ที่สามารถนำผลงานเข้ายื่นเสนอราคาได้
เช่น 1.บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัทช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 3.บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 4.บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง คิอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 5.บริษัทเอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด
อย่างไรก็ตามด้านความคืบหน้าการประมูลโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงินก่อสร้าง 5.46 หมื่นล้านบาทรฟท. จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ และเสนอราคา ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ผ่านเว็บไซต์ของ รฟท. ภายในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 9.00 น.-15.00 น. ที่สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรลลิ้งค์ สถานีมักกะสัน ชั้น 2 หลังจากนั้นจะเปิดให้
เอกชนยื่นซองเอกสารประกวดราคาด้านเทคนิค โครงการก่อสร้างสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เริ่มดำเนินการในวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 โดยโครงการดังกล่าวแบ่งงานเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. วงเงิน 2.71 หมื่นล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. วงเงิน 2.83 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นจะประกาศผลผู้ชนะในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 และลงนามในสัญญาวันที่ 6 สิงหาคม 2564 โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี เปิดให้บริการในปี 2569
ไม่รู้เรื่องผลประโยชน์
ขณะรายงานจากรฟท.ระบุว่า กรณีที่ผู้รับจ้างก่อสร้างยื่นเสนอราคาประมูลโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ถูกเรียกเข้าไปเจรจาถึงการแบ่งงาน 7 % โดยไม่ต้องแบ่งราคานั้น เบื้องต้นไม่ทราบถึงเรื่องนี้แต่หากเกิดขึ้นจริงถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายในการประมูลโครงการฯ เพราะถือเป็นการฮั้วประมูล ไม่ใช่ทำผิดแค่เงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) เพียงอย่างเดียว
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,681 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564