การประมูลรถไฟทางคู่สายใหม่ (เหนือ-อีสาน) จำนวน 2 เส้นทาง 5 สัญญามูลค่า 1.28 แสนล้านบาทของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่ายว่าอาจมี การสมยอมราคา หรือ ฮั้วประมูลโดยไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน เพราะนอกจากมีบริษัทผู้รับเหมารายใหญ่เพียง 5 รายสามารถนำผลงานขอยื่นประกวดราคาได้แล้ว ยังพบพิรุธผลประกวดราคาวิธี อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding โครงการแรกทางคู่สายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตรมูลค่า 72,920 ล้านบาทเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ทั้ง 3 สัญญาผู้เสนอราคาตํ่าสุดราคาใกล้เคียงราคากลางแทบทั้งสิ้น
ขณะรถไฟทางคู่สายอีสาน รายงานข่าวจากการรฟท. แจ้งว่า ทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม.วงเงิน 66,848 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2564 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ทั้งหมด 2 สัญญา ประกอบด้วย
สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 177.50 กม. วงเงิน 27,127 ล้านบาท ราคากลาง 27,123 ล้านบาท มีผู้ยื่นข้อเสนอ 4 ราย จากผู้ซื้อซอง16 ราย โดยเสนอราคาตํ่าสุด27,100 ล้านบาท
สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 177.2 กม. วงเงิน 28,335 ล้านบาท ราคากลาง 28,333 ล้านบาท มีผู้ยื่นข้อเสนอ 4 ราย จากผู้ซื้อซอง16 ราย ราคาตํ่าสุดอยู่ที่ 28,310 ล้านบาท หลังจากนี้จะเปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอด้านเทคนิคภายในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ประกาศผลผู้ชนะการประมูลโครงการภายในวันที่ 15 ก.ค.2564 และลงนามสัญญาภายในวันที่ 6 ส.ค.2564 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดให้บริการในปี 2569
ด้านสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรฟท.(สร.รฟท.) ออกแถลงการระบุว่าจากการติดตามการประมูลโครงการดังกล่าวทั้ง 3 สัญญา พบว่ามีข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใสและน่าสังเกตมากว่าแต่ละสัญญามีผู้ซื้อซองจำนวนมาก แต่ผู้ยื่นเสนอราคาแต่ละสัญญามีเพียง 2 รายเท่านั้นโดยสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ราคากลาง 26,599 ล้านบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูล จำนวน 17 ราย โดยผลเสนอราคาตํ่าสุด 26,568 ล้านบาท ตํ่ากว่าราคากลาง 31 ล้านบาท
สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ราคากลาง 26,913 ล้าน ตํ่ากว่าราคากลางบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูล 18 รายแต่มีผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละสัญญาเพียง 2 รายเท่านั้น โดยเสนอราคาตํ่าสุด 26,900 ล้านบาท ตํ่ากว่าราคากลาง 13 ล้านบาท
สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ราคากลาง 19,406 ล้านบาท มีผู้สนใจซื้อซองประมูล 16 ราย แต่มีผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละสัญญาเพียง 2 รายเท่านั้น โดยเสนอราคาตํ่าสุด 19,390 ล้านบาท ตํ่ากว่าราคากลาง 16 ล้านบาท
หากวิเคราะห์การกำหนดเงื่อนไขในทีโออาร์ กรณีหลักเกณฑ์ผลงานของผู้ที่ประสงค์จะยื่นประกวดราคา ทำให้มีผู้เสนอราคาเพียงไม่กี่รายที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการยื่นประกวดราคาและจากผู้ที่สนใจซื้อซองประมูล 16-18 ราย โดยเอกสารการประกวดราคามีราคา ชุดละ 50,000 บาท ย่อมเป็นเรื่องปกติของผู้ซื้อซองประมูลเจตนาที่จะเข้าร่วมยื่นข้อเสนอราคาประมูลโครงการ แต่ในการเสนอราคากลับมีผู้เสนอราคาเพียง 2 ราย และมีการเสนอราคาที่ตํ่ากว่าราคากลางไม่มากนักจนน่าผิดสังเกตโดยมูลค่าตํ่ากว่าราคากลางแค่หลักไม่กี่สิบล้านบาท โดยปกติไม่น่าจะเป็นไปได้ เมื่อเปรียบเทียบการประมูลโครงการก่อสร้างฯสายอื่นๆ อีกทั้งเป็นการเสนอราคาเฉียดฉิวใกล้เคียงกับราคากลางมาก
“การดำเนินการโครงการดังกล่าวที่ส่อไปในทางที่ไม่โปร่งใสมีการล็อคสเปค ฮั้วประมูลหรือไม่ หรือว่ามีไอ้โม่งขาใหญ่คอยทำหน้าที่ซอยสัญญาแบ่งเค้ก จัดสรรผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง หากมีการฮั้วประมูลกันจริงถือเป็นความเสียหายของประเทศชาติซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงการประมูลทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม ทั้งนี้สร.รฟท.ขอยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้ชะลอโครงการฯ ไปก่อน และตรวจสอบความไม่โปร่งใสของโครงการนี้โดยเร่งด่วน
ขณะก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน นพ.ระวี มาศฉมาดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ได้ออกมาแถลงถึงพิรุธประกวดราคา 2 ทางคู่ 5 สัญญาราคาใกล้เคียงราคากลางส่อฮั้ว-ล็อกสเปก และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตรวจสอบ
ด้านการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มีหนังสือมายังหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ชี้แจ้งว่า ตามขั้นตอนของระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างทุกขบวนการอีกทั้งยังอยู่ภายใต้โครงการข้อตกลงคุณธรรมซึ่งเป็นความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยมีผู้สังเกตการณ์ที่กรมบัญชีกลางแต่ตั้งจำนวน3คนเข้าร่วมสังเกตการณ์ติดตามตรวจสอบทุกขั้นตอนตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตงาน(TOR)กระบวนการประกวดราคากระบวน การก่อสร้างตลอดจนถึงการเบิกจ่ายเงินงวดงานจนโครงการแล้วเสร็จ
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,682 วันที่ 27 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง