นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีสัญญาณดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยในเดือนเมษายน 2564 MPI อยู่ที่ระดับ 91.88 เพิ่มขึ้น 18.46% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดผลกระทบจากการระบาดรอบแรกของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) มากที่สุด จากทิศทางเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้นสะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในระดับสูง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มภาคการผลิตของประเทศเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการผลิตในภาพรวมและกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงสามารถดำเนินการได้อย่างปกติ และเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามทิศทางการส่งออกที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะยังคงขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงถือได้ว่าเป็นกลจักรสำคัญที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI ในเดือนเมษายน 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 18.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ รถยนต์ ที่ขยายตัวในระดับสูงถึง 288.06% จากรถปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล โดยตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 4 เดือนแรกปี 2564 ขยายตัวเฉลี่ย 4.38% อัตราใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.48% เนื่องจากในปีก่อนมีการหยุดผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตรายหลาย หลังการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เครื่องใช้ไฟฟ้า ในครัวเรือน ขยายตัว 75.61% จากความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเนื่องจาก Work From Home เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ เริ่มดีขึ้นจึงมีความต้องการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
เหล็ก ขยายตัว 29.2% ขยายตัวเกือบทุกรายการสินค้าเนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลงโดยจีนซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกมีนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศให้ดีขึ้นจึงสั่งปิดโรงงานเหล็กที่ผลิตไม่ได้ตามมาตรฐานส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง ประกอบกับในช่วงนี้สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กของโลกปรับตัวสูงขึ้น จากทั้งสองปัจจัยหลักข้างต้นจึงทำให้การผลิตเหล็กของไทยเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาเหล็กและความต้องการที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่า 16,178.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 45.69% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2563 และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 13.09% เป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 36 เดือน โดยกลุ่มสินค้าเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 11.44% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้น 1.46 และสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 12.43% การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เป็นต้น การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 26.82%
สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจากตัวเลขทั้งภาคการส่งออกและการนำเข้าสะท้อนให้เห็นถึงภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าตัวเลข MPI ในเดือนถัดไปจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่มีดัชนีผลผลิตขยายตัวในเดือนเมษายน 2564 รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 288.06% จากรถปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก จากในปีก่อนมีการหยุดผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตหลายราย หลังการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศจากการแพร่ระบาดโควิด-19
เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 515.18% เนื่องจากสงกรานต์ปีนี้ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ แม้ว่าจะมีการควบคุมในบางพื้นที่
เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 57.38% ผู้ผลิตมีการพัฒนาสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการและจัดรายการส่งเสริมการขายกระตุ้นการจำหน่ายในประเทศให้เพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ของประเทศคู่ค้าหลักเริ่มคลี่คลายทำให้การดำเนินการส่งออกกลับมาเป็นปกติหลังจากการปิดช่องทางขนส่ง
เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.23% จากเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กเคลือบสังกะสี และเหล็กเส้นข้ออ้อยเป็นหลัก จากที่ปีก่อนลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อตามความต้องการใช้หดตัว รวมทั้งมีผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตชั่วคราวในปีก่อน
ยางรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 69.74% จากยางนอกรถยนต์นั่งยางนอกรถบรรทุกรถโดยสาร และยางนอกรถกระบะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :