นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 โดยมีเป้าหมายการรับซื้อจำนวน 50 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2564
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ซึ่งได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายแผน PDP2018 rev.1 โดยให้ขยายผลไปยังกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำการเกษตร (โครงการนำร่อง) เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มดังกล่าวสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ส่วนที่เหลือใช้สามารถขายเข้าสู่ระบบได้
กกพ. จึงได้ออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564
“กกพ. ได้ออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าภายใต้โครงการโซลาร์ สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) ครั้งนี้ มีปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 50 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็น พื้นที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 12 เมกะวัตต์ ประกอบไปด้วย โรงเรียน สถานศึกษา รวม 6 เมกะวัตต์ และโรงพยาบาล 6 เมกกะวัตต์ พื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 38 เมกะวัตต์ ประกอบไปด้วย โรงเรียน สถานศึกษา รวม 14 เมกะวัตต์ โรงพยาบาล 14 เมกะวัตต์ และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทสูบน้ำเพื่อการเกษตร 10 เมกะวัตต์ โดยมีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 10 ปี และมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564”
นายคมกฤช กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการนำร่อง โดยขยายผลจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ เป็นกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทสูบน้ำเพื่อการเกษตร ขนาดไม่เกิน 200 กิโลวัตต์ โดยที่สำนักงาน กกพ. จะรวบรวมข้อมูลความสนใจของกลุ่มต่างๆ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ เพื่อปรับปรุงแนวทางการสนับสนุนการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสดงอาทิตย์ต่อไป
"การรับซื้อไฟฟ้าในโครงการดังกล่าวนี้ ใช้ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบในอัตรา 1.00 บาทต่อหน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง)"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :