ส.อ.ท. ชี้สมาชิกต้องการวัคซีนทางเลือก 1 ล้านโดส

02 มิ.ย. 2564 | 12:40 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2564 | 05:01 น.

ส.อ.ท. เผยสมาชิกมีความต้องการวัคซีนทางเลือกจ่ายเงินฉีดให้พนักงานเองกว่า 1 ล้านโดส เบื้องต้นขอซื้อ 3 แสนโดสเร่งฉีดคนงาน หวั่นโควิดลาม กระทบผลิต-ส่งออกสะดุด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความต้องการวัคซีนทางเลือกของสมาชิก ส.อ.ท. ที่แสดงเจตจำนงเข้ามาอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านโดส  เพื่อนำไปฉีดให้กับพนักงาน  แต่เนื่องจากการนำเข้าวัคซีนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ล็อตแรกในเดือนมิถุนายนมีจำนวน 1 ล้านโดสเท่านั้น  โดยสามารถจัดสรรให้กับ ส.อ.ท. ได้ทั้งหมดตามความต้องการดังกล่าวแต่ขณะนี้มีความต้องการจากรายอื่นด้วย ดังนั้น ส.อ.ท. จึงขอซื้อในเบื้องต้นก่อน 3 แสนโดส
    ส่วนเรื่องของฉีดวัคซีนนั้น เมื่อได้วัคซีนเข้ามา ส.อ.ท. กับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะต้องมีการหารือ และทำงานร่วมกัน  เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการฉีด ทั้งเรื่องของสถานที่ และวันเวลา  โดยเรื่องของสถานที่ ส.อ.ท. เองมีความพร้อมจากความร่วมของสมาชิก  แต่ด้วยเงื่อนไขของการรักษามาตรการทางด้านความปลอดภัย  หรือการป้องกันความเสี่ยง  อาจจะไม่สามารถไปฉีดที่โรงงานแต่ละแห่งได้ทันที  ดังนั้นอาจต้องใช้นิคมอุตสาหกรรมที่ใดที่หนึ่งเป็นที่ฉีด  โดยทางราชวิทยาลัยฯจะช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าวร่วมกับ ส.อ.ท. เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
    “ส.อ.ท.ได้เรียกร้องเรื่องวัคซีนทางเลือกมาโดยตลอด  ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการเข้าไปร่วมมือกับราชวิทยาลัยฯล่วงหน้า  โดย ส.อ.ท. มีความพร้อมที่จะขอซื้อวัคซีนที่เข้ามาทั้งหมด  แต่ก็มองว่าอาจจะไม่เหมาะสมเท่าใดนักกับสถานการณ์เวลานี้  เพราะปัจจุบันยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ต้องการวัคซีนทางเลือกเช่นเดียวกัน  จึงขอซื้อในเบื้องต้น 3 แสนโดส เพื่อให้วัคซีนกระจายไปหลายส่วน”
    นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ส.อ.ท. มีความเป็นห่วงเรื่องการระบาดของโควิด-19 (covid-19)ในโรงงานมาตั้งแต่ต้น  โดยมีการมองสถานการณ์ล่วงหน้าเอาไว้  จากแนวโน้มการแพร่ระบาดที่กระจายตัวเร็วว่าระลอกที่ 1-2 ซึ่งเป็นที่มาของการมองหาวัคซีนทางเลือกให้กับสมาชิก  เพราะหากปล่อยให้มีการระบาดเข้าไปในโรงงานจนต้องหยุดการผลิต  จะส่งผลกระทบอย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออก  ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการล่าช้าจนต้องเสียค่าปรับ และที่สำคัญคือสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับผู้สั่งซื้อในต่างประเทศด้วยว่าโรงงานในไทยไม่ได้มาตรฐาน  เพราะไม่มีมาตรการฉีดวัคซีนให้กับคนงาน 
    นอกจากนี้  ยังอาจจะกระทบกับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายอุตสาหกรรม  โดยจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศยิ่งชะลอตัวลงไปอีก หากเครื่องยนต์ที่คอยพยุงเศรษฐกิจอย่างภาคอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักลง อย่างไรก็ดี ส.อ.ท.ได้สั่งการไปยังสมาชิกให้มีการใช้แผนรับมือกับเหตุการณ์ภาวะวิกฤติ (Business Continuity Plan : BCP) มาตั้งแต่โควิดระบาดในระลอกที่ 1 ซึ่งก็ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถดำเนินการผลิตได้อยู่  แต่ก็ได้มีการเน้นย้ำให้เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น  จากการที่เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ในระลอกที่สาม  ซึ่งแพร่ระบาดได้ง่ายมาก
    “ปีนี้คงพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว  ภาคบริการแทบจะไม่ได้  เพราะระลอกที่ 3 กว่าจะฉีดวัคซีน  กว่าจะเปิดประเทศได้อย่างเต็มที่  คงต้องหลังจากฉีดไปแล้ว  แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องจักรตัวเดียวที่ยังแข็งแรงอยู่คือภาคอุตสาหกรรม  และโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ซึ่งในขณะนี้ทำได้ดี  และมีแนวโน้มของการส่งออกทั้งปีที่ 4-6% จากการที่ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ฟื้นตัว  และมีความต้องการสินค้ามากขึ้น เห็นได้จากแนวโน้มตัวเลขการส่งออกในเดือนมีนาคมถึงเมษายนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :