หอการค้าไทยลุยงานใหญ่ ดันไทยผู้นำอาหารแห่งอนาคต

06 มิ.ย. 2564 | 05:28 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2564 | 05:49 น.

หอการค้าไทย คิกออฟคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต เปิดชื่อล้วนมือโปรวงการอาหารเมืองไทย เล็งเป้าปฏิรูปและเปลี่ยนผ่าน ดันไทยผู้นำในการผลิตอาหารแห่งอนาคตของโลก

คณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต (Processed Food and Future Food Committee : PFC) เป็นสมาชิกน้องใหม่ในสายงานสินค้าเกษตรและอาหารวาระบริหารปี 2564-2565 ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินภารกิจปฏิรูปการผลิตอาหารแปรรูป และเปลี่ยนผ่านการผลิตอาหารไทยสู่อาหารแห่งอนาคต

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูป และอาหารแห่งอนาคต (PFC) หอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า PFC  ประกอบด้วย คณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจ อาหารทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา หน่วยงานค้นคว้าวิจัยและพัฒนา ได้แก่ ผู้แทนจากบริษัทขนาดใหญ่ กลาง เล็ก สตาร์ทอัพ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ผู้อำนวยการ Food Innopolis และผู้แทนจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา เป็นประธาน และรองประธานอีก 6 ท่านช่วยดูแลกรอบงานต่างๆ ได้แก่ คุณธรรศ ทังสมบัติ คุณเดวิด เล้า ชิไว ดร.องอาจ กิตติคุณชัย คุณไว ฮุย ลี ผศ.ดร.สุรพงษ์ พินิจกลาง และ คุณบุญเลิศ อ่องไพบูลย์

ที่ปรึกษา PFC

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ PFC ให้บรรลุเป้าหมายนั้น คณะกรรมการได้แบ่งหน้าที่เพื่อปฏิบัติภารกิจใน 4 กรอบงาน ได้แก่ 1. ด้านส่งเสริมการค้าอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม 2. ด้านส่งเสริมอาหารแห่งอนาคต 3. ด้านมาตรฐานและกฎระเบียบในประเทศและต่างประเทศ 4. ด้านกิจกรรมและพัฒนาอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต

การประชุมคณะกรรมการ PFC ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 เป็นการหารือถึงแนวทางการทำงานเบื้องต้น ซึ่งจะมีการปรับปรุงในภายหลัง เมื่อทบทวนเนื้อหางานซึ่งมีความเชื่อมโยงกับคณะอื่นในสายงานเกษตรและอาหาร แล้วตัดทอน งานที่อาจมีความทับซ้อนกัน เพื่อการทำงานที่เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ

ที่ปรึกษา PFC(2)

คณะกรรมการด้านส่งเสริมการค้าอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม มีแนวทางในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการ ปฏิรูปตลอดโซ่การผลิตต้นน้ำเป็น Smart Farming ด้วยการใช้เทคโนโลยีการผลิตให้ปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP การผลิตอย่างมีเสถียรภาพด้วยระบบเกษตรพันธะสัญญา และการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ผลักดันให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยดำเนินการร่วมกับภาครัฐ เพื่อแสวงหาตลาดและกระจายสินค้าเกษตร ส่วนกลางน้ำ ผลักดันกระบวนการแปรรูปสู่ยุค 4.0 การอนุมัติสินเชื่อเครื่องจักรแบบ Leasing ผลักดันให้กระบวนการอนุมัติการขึ้นทะเบียนอาหารเร็วขึ้น เพื่อให้มีอาหารใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ SMEs ยกระดับแรงงานในอุตสาหกรรม re-skill,up-skill, new-skill นอกจากนี้เพิ่มการผลักดันการสร้างความเชื่อมโยงต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ด้วยระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) รวมถึงการผลักดันการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชง

คณะกรรมการด้านส่งเสริมอาหารแห่งอนาคต มีแนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้ เปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นผู้นำในการผลิตอาหารแห่งอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับเมกะเทรนด์ของโลกด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยี สุขภาพ ธรรมชาติประชากร เศรษฐกิจและระเบียบโลก โดยมีสินค้าเป้าหมายในการขับเคลื่อนเบื้องต้น ได้แก่ Plant Based Food, Alternative Protein เช่น อาหารจากแมลงซึ่งทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ให้ข้อมูลที่ประชุมว่า มีนโยบาย ให้อาหารแห่งอนาคตเป็นหนึ่งในสินค้าเรือธงของประเทศไทย

รองประธานกรรมการ PFC

คณะกรรมการด้านมาตรฐานและกฎระเบียบในประเทศและต่างประเทศ มีแนวทางการดำเนินงานใน 2 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการแก้ไขปัญหาอุปสรรค เช่น การดำเนินงานตามกฎระเบียบของ Codex การรวบรวมกฎระเบียบที่ เกี่ยวข้องอาหารแปรรูปทั้งในส่วนที่นำเข้าและส่งออก 2. ด้านการส่งเสริมธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต เช่น ผลักดันให้มีการสนับสนุน Tax Incentive สำหรับผู้ประกอบการอาหารแห่งอนาคต ส่งเสริมการให้ความรู้การบริโภค การปรุง อาหารและข้อมูลโภชนาการที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคปลายทาง

คณะกรรมการด้านกิจกรรมและพัฒนาอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต มีแนวทางในการดำเนินงาน 6 ด้าน ได้แก่ 1.ดำเนินโครงการ Online Clinic Food & Bio-Tech for Success 2. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัด EVENT 3.จัดทำ‘‘ภาพยนตร์อาหาร’’ เพื่อเป็นช่องทางให้คนทั่วโลกได้รู้จักอาหารไทยมากขึ้น 4) การจัดงาน Future Food Forum ร่วมกับ หอการค้าไทย 5. กิจกรรม Exclusive Talk อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต 6.‘Food Connext” เป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือและเชื่อมโยงหน่วยงานรัฐ สมาคม และสังคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ค่าระวางเรือพุ่ง 300% ส่งออกอาหารยังลุ้น 1 ล้านล้าน

พาณิชย์มั่นใจส่งออกอาหารปีนี้ 1 ล้านล้านบาท

“ลาว”ไฟเขียวส่งออกอาหารทะเลไทยกลับมาคึกคัก

พาณิชย์ตีปี๊บส่งออกอาหารทะเลปลอดโควิด

ไทยร่วงส่งออกอาหารอันดับ 13 โลก คาดปีนี้ฟื้นเล็งเป้า 1.05 ล้านล้าน