โครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน ประจำปี 2564 ได้มีการจัดสรรหลักเกณฑ์โครงการนมโรงเรียนในรูปแบบใหม่ ในพื้นที่ 5 เขตของกรมปศุสัตว์ จำนวนเด็ก 6.9 ล้านคน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ปีนี้มีผู้ประกอบการ โรงงานเอกชน/สหกรณ์ ที่เข้าโครงการนมโรงเรียน 91 ราย (ยังเป็นการคาดการณ์) งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท
แต่เวลานี้ยังฝุ่นตลบและมีการยื่นฟ้องศาลปกครองจากผู้มีส่วนได้เสีย ระบุหลักเกณฑ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม จากเงื่อนไขผู้ประกอบการที่ยื่นเข้ามาทั้งใหม่และเก่า รายละไม่เกิน 5 ตันต่อวัน รวม 48 ราย ได้รับสิทธิพิเศษเข้าโครงการโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องรับผิดชอบนมพาณิชย์ เข้าโครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน 100%
นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนต่อศาลปกครองขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ 97/2564 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 และยังมีอีก 3 ราย ที่ได้ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันประกอบด้วย บริษัททุ่งกุลาแดรี่ฟูดส์ จำกัด (บจก.), บจก.อุดรแดรี่ฟู้ดส์ และสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด ต่างเห็นว่าผู้ประกอบการที่เปิดกิจการสาขาในพื้นที่จำนวน 8 ราย ในจำนวนนี้ 5 ราย มีเจ้าของคนเดียวกัน
จะมายกเว้นไม่ต้องนำปริมาณนมมาหาค่าเฉลี่ยสัดส่วนกับผู้ประกอบการรายอื่นใน โครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการที่ยื่นสิทธิไม่เกิน 5 ตันต่อวัน จะต้องมาใช้ระเบียบเดียวกันถึงจะเป็นธรรม ขณะที่ทางกรมปศุสัตว์ตีความว่าเป็นผู้ประกอบการคนละรายกัน จึงเป็นที่มาของการฟ้องศาลปกครอง
สอดคล้องกับ นางสาวชยภัท เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บจก.ทุ่งกุลาแดรี่ฟูดส์ กล่าวว่า ได้ให้ฝ่ายกฎหมายดูแล้วเป็นผู้ประกอบการรายเดียว ในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ จะมีการประชุมชี้ขาด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธาน หากตัดสินว่าการแตกสาขาใหม่ เป็นผู้ประกอบการคนละราย คนที่เสียเปรียบที่โดนตัดโควตา ก็คือกลุ่มที่ต้องรับแบกภาระน้ำนมดิบของเกษตรกร จากระบบเดิมก็คือ ต้องมีสัดส่วนรับน้ำนมพาณิชย์ ถึงจะเข้าโครงการนมโรงเรียนได้ แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการ 5 ราย เข้าได้อัตโนมัติไม่ต้องมาแบกน้ำนมดิบเพิ่ม
จากรูปแบบดังกล่าวนี้ คนที่จะกระทบหนักคือ "เกษตรกร" ผู้เลี้ยงโคนม เพราะจะทำให้สูญเสียรายได้ที่พึงจะได้รับ โดยคำนวณจากส่วนที่ประกอบการดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นตามหลักเกณฑ์ข้อ 2.6 ความเสียหาย 42% ของน้ำนมดิบที่ทำเอ็มโอยูไว้กับเกษตรกรฯ ในเขต 4 กลุ่ม 3 ของกรมปศุสัตว์ คิดคำนวณคร่าว ๆ หากจัดสรรสิทธิโควตาแบบนี้จะทำให้การสูญเสียรายได้พึ่งได้ของเกษตรฯ ทั้งหมด 735 ล้านบาทต่อปี (วันที่ 7 มิ.ย. 64 จะนำรายละเอียดไปยื่นในที่ประชุมฯ ที่มีผู้ว่าฯ ขอนแก่นเป็นประธาน ประกอบการรายงานผลกระทบ) และหากต่อไปมีผู้ประกอบการรายอื่นใช้ช่องว่างจากการพิจารณาที่คลาดเคลื่อนเช่นเดียวกันนี้ เกษตรกรฯก็จะได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยมิอาจประมาณเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนได้
แหล่งข่าวนมโรงเรียน กล่าวว่า การเปิดสาขาแบบนี้ตั้งใจจะมารับสิทธิในโครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน โดยเฉพาะ เพราะในความเป็นจริงโรงงานเล็กขนาดน้ำนมดิบไม่เกิน 5 ตันต่อวันไม่คุ้มทุน แต่มองว่าการตั้งโรงงานแบบนี้เป็นการระบายน้ำนมดิบของสหกรณ์หรือบริษัทนั้นๆ มากกว่า หลักเกณฑ์นี้ถือว่ามีช่องว่าง ใครมีเงินทุน 5-10 ล้านบาท ก็ตั้งโรงงานได้ แต่หากเข้าโครงการนมโรงเรียนได้ในระยะยาวคุ้มมาก เพราะโครงการมีความมั่นคงจากได้รับเงินจัดสรรจากรัฐบาลถึง 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ทำให้มีรายได้แน่นอน
“ที่น่าสังเกตคือจากจำนวนเด็กสูงสุดที่จะได้ดื่มนมโรงเรียน 8.4 ล้านคน ปี 2558 แต่ปี 2564 เด็กเหลือ จำนวน 6.9 ล้านคน ดังนั้นมองว่างบประมาณเหลือน่าจะจัดสรรเด็กให้ครบ 365 วันจากปัจจุบันได้ดื่ม 260 วันต่อปี (เทอมหนึ่ง 130 วัน และเทอมสอง 130 วัน)”
นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด และกรรมการในคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด กล่าวว่า มีลุ้นว่าศาลปกครองขอนแก่นจะคุ้มครองหรือไม่ หากให้การคุ้มครอง จะสะเทือนถึงผู้ประกอบการที่ยื่นไม่เกิน 5 ตันต่อวันจำนวน 48 ราย จะต้องยกเลิกทั้งหมด
ขณะที่ นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เลขที่ ขก 0008/ว 14027 เชิญผู้ประกอบการในโครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน เข้าร่วมประชุมหารือในวันที่ 7 มิถุนายน เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป จะมีการตัดสินว่าการเปิดสาขาใหม่ จัดว่าเป็นผู้ประกอบการรายเดียวหรือไม่
โครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน ปี 2564 ยังวุ่น ต้องจับตาว่าท้ายที่สุดแล้วจะมีการรื้อหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขใหม่หรือไม่ อย่างไร เพราะเรื่องผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร จะได้มาต้องแย่งชิง
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,685 วันที่ 6 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง