นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายในการดำเนินงานแก่สถาบันการบินพลเรือน ว่า ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบิน เน้นการสร้างเครือข่ายทางวิชาการ โดยอาศัยความร่วมมือแลกเปลี่ยนทักษะความรู้ งานวิจัย ตลอดจนนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี จากหน่วยงานในอุตสาหกรรมการบินที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็น การสร้างความน่าเชื่อถือด้านการบินให้กับประเทศไทย อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคในอนาคต ทั้งนี้ได้มอบนโยบายในการดำเนินงานแก่สถาบันการบินพลเรือน
ตามแนวทางทั้ง8 ด้าน ประกอบไปด้วย 1.กำหนดให้ สถาบันการบินพลเรือน เป็นสถาบันหลักในการกำหนดมาตรฐานการผลิตบุคลากรด้านการบินที่มีคุณภาพและมาตรฐาน 2. ในฐานะที่ สถาบันการบินพลเรือน ได้ยกระดับเป็นสมาชิกเป็น Regional Training Center of Excellence (RTCE) โครงการ CAO TRAINAIR PLUS โดยได้รับการรับรองสาขาความเชี่ยวซาญ ใน 2 ด้าน ได้แก่ Air Navigation Services และ Flight Safety and Safety Management นั้น ให้ต่อยอดพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย 3.ยึดหลักการสำคัญ คือ "คุณภาพ " ของหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงบุคลากรด้านการบินในด้านทักษะภาษาอังกฤษ ให้ตรงตามความต้องการของตลาดทางด้านอุตสาหกรรมการบิน
4. พิจารณาเร่งรัดการพัฒนาศูนย์ฝึกการบิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในด้านอาคารสถานที่ หลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนบุคลากร้ ให้พร้อมรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต อย่างทันท่วงที 5. ให้ สบพ.มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถภายใต้การแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมการบิน โดยคำนึงถึงการพัฒนารูปแบบนวัตกรรม และการปรับใช้ทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการสนับสนุนองค์กรในทุกด้าน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว 6. บริหารจัดการด้านสินทรัพย์ขององค์กร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ในอนาคต 7. เน้นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของการผลิตบุคลากรด้านการบิน และผลงานวิจัยวิชาการด้านการบิน ให้โดดเด่น เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 8.พิจารณาศึกษาทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภาให้คุ้มค่ากับเงินลงทุนสามารถตรวจสอบได้