ตาม มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 และมติคณะกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (จำนำยุ้งฉาง) ปีการผลิต 2563/64 (เพิ่มเติม) เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว ไม่ต้องเร่งขายในช่วงที่ราคาตกต่ำ โดยเป็นการปรับกรอบวงเงินจาก 19,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 4,504 ล้านบาท รวมเป็น 24,330 ล้านบาท โดยเป็น วงเงินสินเชื่อ จำนวน 3,500 ล้านบาท วงเงินค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว จำนวน 480 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวน 524 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถรองรับการชะลอปริมาณข้าวเปลือกเพิ่มเติมจำนวน 320,000 ตันข้าวเปลือก รวมเป็น 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก โดยราคาที่ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อ ไม่เกินร้อยละ 90% ของราคาตลาด แบ่งเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด,ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด, ข้าวเปลือกเจ้า, ข้าวเปลือกเหนียว และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี (กราฟิกประกอบ) กำหนด ชำระคืนเงินกู้ภายใน 5 เดือนนับถัดจากเดือนที่รับเงินกู้โดยไม่มีอัตราดอกเบี้ย โดยขยายระยะเวลาจัดทำสัญญากู้จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เป็น 31 มีนาคม 2564 และภาคใต้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม- 31 กรกฎาคม 2564
นายสวน เจริญสุขรุ่งเรือง อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยเขตภาคเหนือตอนล่าง กล่าวถึงสถานการณ์ ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ เวลานี้ไม่ค่อยดี ราคาเฉลี่ยที่ 11,500 บาทต่อตัน ซึ่งโรงสีก็พยายามกดราคา อ้างเหตุผลต้องมีการลงทุนค่าอบความชื้น ค่าเก็บและรักษาคุณภาพข้าว ซึ่งเกษตรกรหากจะขายได้คุ้มทุนควรจะอยู่ที่ 12,500 บาทต่อตัน ดูทิศทางแนวโน้มราคาแล้วเกษตรกรคงลำบาก ใจจริงไม่อยากให้เป็นภาระรัฐบาล
ขณะที่นายวิชัย ศรีนวกุล นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเมินว่า ข้าวในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกของ ธ.ก.ส.ที่มีอยู่ในสต๊อก 1.1 ล้านตัน คาดจะมีข้าวหอมมะลิ 6-7 แสนตัน ส่วนที่เหลือเป็นข้าวชนิดอื่น ที่ผ่านมาโรงสีในภาคอีสานมีการรับซื้อข้าวเข้ามาจากเกษตรกรเริ่มระบายข้าวออกมามาก เนื่องจาก ธ.ก.ส. เร่งรัด ให้รีบขาย ทั้งที่ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ติดปัญหาโควิดระลอก 3 สถานการณ์ส่งออกไม่ดี แทนที่จะชะลอการะบายกลับดันซัพพลายออกมา ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดราคาตก โดยข้าวเปลือกหอมมะลิจาก 12,000-12,500 บาทต่อตัน ปัจจุบันเหลือ 10,500-11,000 บาทต่อตัน ปรับลดลงมากว่า 1,500 บาทตันต่อตัน จากก่อนหน้านี้โรงสีทุกโรงมีข้าวต้นทุนสูงเก็บอยู่ในสต๊อก ขณะที่ผู้ส่งออกก็ชะลอคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศยังไม่ดี ประกอบกับโรงสีมีเงินทุนจำกัด ทำให้ไม่สามารถที่จะซื้อข้าวได้เพิ่มมาก คาดแนวโน้มราคาข้าวก็จะลดลงอีก แนะ ธ.ก.ส. ขยายเวลาไถ่ถอนออกไปก่อนไม่ต้องรีบร้อน
ด้านแหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส. กล่าวว่า ได้เตรียมแผนไว้แล้วหากข้าวเกษตรกรไม่มาไถ่ถอน ปล่อยให้หลุดจำนำยุ้งฉางเกษตรกร ก็ไม่ต้องกังวล เพราะข้าวจะตกเป็นของ ธ.ก.ส. อีกด้านหนึ่งรัฐบาลจะชดเชยการขาดทุนให้ ธ.ก.ส.อยู่แล้ว อย่างไรก็ดีเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 (มีข้าวหลุดจำนำยุ้งฉาง 2.8 แสนตัน) ธ.ก.ส.เคยเสนอแนวทางในการระบายข้าวหลุดจำนำยุ้งฉาง 3 แนวทาง ได้แก่
1.นำข้าวเปลือกหอมมะลิในยุ้งฉางของเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรมาสีแปรสภาพเป็นข้าวสารจำหน่ายในทุกสาขาของ ธ.ก.ส.
2.ขายให้แก่ผู้เสนอราคาซื้อไม่ต่ำกว่าวงเงินสินเชื่อต่อตัน
3.ประมูลขายให้แก่ผู้ซื้อทั่วไป โดยใช้ราคาตลาดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาขาย
ดังนั้น ต้องรอดูว่า ธ.ก.ส. จะระบายในรูปแบบไหน จะซ้ำรอยเดิมหรือไม่
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,689 วันที่ 20 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง