นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ได้ 2.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า(kgCO2e) ภายใน 5 ปี (2564-2568) หรือปีละ 500,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e)โดย กนอ.ได้ดำเนินงานการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และระบบเศรษฐกิจ สีเขียว (Green Economy) ภายใต้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ- เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ซึ่งสอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแผนวิสาหกิจ กนอ. (พ.ศ. 2561-2565) ในยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาและบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน (Green Strategy)
สำหรับปี 2564 กนอ.ได้จัดทำแนวทางเพิ่มค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ของรัฐบาล โดยคาดว่าจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือประมาณกว่า 700,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) จากการให้บริการสาธารณูปโภคของนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินการเอง รวมทั้ง กนอ. สำนักงานใหญ่ โดยเป็นการดำเนินงานผ่านแผนงานการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของ กนอ. อาทิ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนอาคารสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางปูและนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง การติดตั้งโซล่าเซลล์ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและของเสียอุตสาหกรรมกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ การสนับสนุนให้โรงงานเก็บสถิติก๊าซเรือนกระจกเบื้องต้นและขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กนอ. ยังมีโครงการสนับสนุนส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และโครงการส่งเสริมสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ที่ดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) อีกด้วย
“แนวคิดการปรับปรุงประสิทธิภาพเชิงนิเวศมีเป้าหมายหลัก คือ เพื่อสร้างความยั่งยืนของทรัพยากร พัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งทั้งหมดต้องก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมาก ส่งเสริมการเกิดเครือข่ายในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่นำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า ยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ พัฒนาสินค้าและบริการ การนำของเสียที่อยู่ท้ายสุดของห่วงโซ่อุปทานมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ และปลดปล่อยของเสียให้เหลือน้อยที่สุด สร้างสมดุลระหว่างวัตถุดิบ การนำไปใช้ และผลผลิตในกระบวนการที่ก่อให้เกิดของเสียในโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม ส่งเสริมกิจกรรมความร่วมมือต่างๆระหว่างโรงงานทั้งในและนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม สร้างการเกื้อกูลพึ่งพากันและกันในรูปแบบเครือข่ายได้ในที่สุด”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :