“สมุทรสาคร”จี้เร่งฉีดวัคซีน ป้อง 6,000 โรงงานถูกตีแตก สะเทือนส่งออก

27 มิ.ย. 2564 | 02:01 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2564 | 02:16 น.

สมุทรสาคร เปรียบเสมือนเมืองหลวงโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระะบาดของเชื้อโควิดในระลอกที่ 2 เวลานี้ระบาดในระลอก 3 สถานการณ์ของสมุทรสาครยังน่าห่วงยิ่ง

ทั้งนี้หลายวันก่อนคนจังหวัดสมุทรสาคร หรือชาว “มหาชัย”ได้แห่ขึ้นโปรไฟล์แสดงพลังทวงคืนวัคซีนให้คนสมุทรสาคร นำทีมโดยสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าจังหวัด หลังรัฐบาลมีเป้าหมายให้บริการวัคซีน 10 ล้านโดสทั่วประเทศในเดือนกรกฎาคม แต่ปรากฏจังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง และต้องเผชิญการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดมานานกว่า 6 เดือนแล้ว ในเบื้องต้น จ.สมุทรสาคร ถูกจัดสรรให้จะได้รับวัคซีนเพียง 70,000 โดสจากตามแผนรัฐบาลสมุทรสาครจะได้รับการจัดสรร 330,000 โดส

นายชาธิป  ตั้งกุลไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ตนพร้อมด้วย นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครและคณะได้ไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ของจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีผู้แทน ศปก.ศบค.เป็นผู้รับหนังสือ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

“สมุทรสาคร”จี้เร่งฉีดวัคซีน ป้อง 6,000 โรงงานถูกตีแตก สะเทือนส่งออก  

การยื่นหนังสือครั้งนี้เพื่อขอให้ทบทวนการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ของจังหวัดสมุทรสาครอีกครั้ง ทั้งนี้ได้หารือในประเด็นการจัดสรรวัคซีน ร่วมกับ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แจ้งว่า ข้อมูลผ่านสื่อเรื่องการจัดสรรจำนวนวัคซีนให้ จ.สมุทรสาคร 7 หมื่นโดส จากเดิมจะให้ 3.3 แสนโดส เป็นแค่ตัวร่างหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขส่งมาที่ ศบค. ยังไม่ใช่ประกาศการจัดสรรวัคซีนอย่างเป็นทางการ ขณะนี้กำลังให้มีการพิจารณาใหม่ตามความเหมาะสมแล้ว

“อย่างไรก็ดีความหวังจะได้ 3.3 แสนโดสน่าจะยาก เพราะว่าวัคซีนที่มามีจำกัด แต่ก็คิดว่าน่าจะได้เพิ่มขึ้น อาจจะมีหาวิธี ว่าจะเอามาจากทางไหนได้อีกบ้าง เพราะเวลานี้คนสมุทรสาครติดเชื้อโควิดเกือบ  200 คนต่อวัน และ 2 สัปดาห์แล้วอยู่ระดับ 100 กว่าคนต่อวันมาโดยตลอด ครั้งนี้เริ่มมีกลุ่มโรงงานเข้ามาบ้างกระจายในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมตั้งแต่อาหาร สิ่งทอ แม้แต่พวกของเด็กเล่น ขนมขบเคี้ยวก็โดนแทบจะทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งโรงงานที่มีผู้ติดเชื้อก็ต้องหยุดผลิตชั่วคราว ปิดโซน บางโรงงานก็อาจจะต้องถูกหยุดงาน”

“สมุทรสาคร”จี้เร่งฉีดวัคซีน ป้อง 6,000 โรงงานถูกตีแตก สะเทือนส่งออก

สำหรับการติดเชื้อโควิดในระลอกที่ 3  ในสมุทรสาครส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ และติดในกลุ่มคนไทยเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดสมุทรสาครได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 1.1 แสนคน หรือสัดส่วนประมาณ 10% ของจำนวนประชากร โดยประชากรของสมุทรสาครมีทั้งคนในพื้นที่ และแรงงานที่มาทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ทั้งคนไทยและต่างด้าวประมาณ 9.7 แสนคน หรือตัวเลขกลม ๆ ที่ 1 ล้านคน โดยฉีดให้กับคนไทยเป็นหลัก ยังไม่มีการฉีดให้กับแรงงานต่างด้าว

“ทางจังหวัดได้เริ่มฉีดวัคซีนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วประมาณ 1.1 แสนคน ส่วนใหญ่จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ผู้ขับรถขนส่งสาธารณะ ครูในโรงเรียน หรือคนในพื้นที่เป็นหลัก ส่วนคนงานในโรงงานยังไม่ได้เริ่มฉีด หรือฉีดน้อยมาก โดยในจำนวนนี้มีแรงงานอยู่ในสองนิคมหลัก คือนิคมฯสมุทรสาคร และนิคมฯสินสาครประมาณ 3 หมื่นคน ก็ยังไม่ได้เริ่มฉีด ที่ผ่านมาในจำนวน 1.1 แสนคนในภาพรวมของจังหวัดที่ได้รับการฉีดวัคซีน ผมคิดว่าเป็นคนงานที่ได้รับการฉีดไม่ถึง 5,000 คนด้วยซ้ำ”

นายชาธิป กล่าวอีกว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโควิดในระลอกที่3 (ตั้งแต่เม.ย.) การติดเชื้อของคนงานในโรงงานคาดว่ามีเกือบจะ 100 โรงงานแล้ว โดยติดเชื้อในกลุ่มแรงงานไทยเป็นหลัก โรงงานหนึ่ง 2 คนบ้าง 3 คนบ้าง 5 คนบ้าง บางโรงงานอาจจะขึ้นหลายสิบคน ทั้งนี้สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมน่าจะมากที่สุดในประเทศไทยโดยมีมากกว่า 6,000 โรง (6,082 โรง ณ ธ.ค.63)นอกจากนี้ยังมีสถานประกอบการขนาดเล็กอีก รวม ๆ กันแล้วน่าจะ 1.1 หมื่นกิจการ คนงานในจังหวัดประมาณ 7 แสนกว่าคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวเกือบ 3 แสนคน

“การติดเชื้อโควิดในรอบนี้ เริ่มมีผลกระทบกับภาคการส่งออกบ้างแล้ว เช่น บางกลุ่มอุตสาหกรรมชะลอรับคำสั่งซื้อ จากก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมในพื้นที่มีปัญหากำลังการผลิตลดลง จากมีแรงงานไม่เพียงพอ วันนี้เราขาดแรงงานไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน และจากปัญหาโควิดจนถึงทุกวันนี้ ทุกโรงงานยังไม่สามารถรับแรงงานต่างด้าวได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา จะมีออเดอร์มายังโรงงานอาหารทะเล อาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป เข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ทุกวันนี้ต้องชะลอรับออเดอร์ เพราะแรงงานไม่พอ ผนวกกับปัญหามีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในโรงงาน ทำให้การบริหารจัดการในทุกโรงยากขึ้น ดังนั้นออเดอร์ที่เข้ามาจึงเป็นเพียงการรักษาระดับเอาไว้เท่านั้นเอง แต่การเติบโตคงทำได้ไม่มาก”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

"วิกฤติเตียงผู้ป่วยโควิด"สมุทรสาครเปิด รพ.สนามที่เคยใช้เพิ่ม 2 เเห่ง

สมุทรสาครบุกทำเนียบไล่ล่าหา"วัคซีน" 

ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ตัดพ้อ ถูกตัด 'โควต้าวัคซีน '

อบจ.สมุทรสาครจอง"ซิโนฟาร์ม"200,000โดส"

นำร่องเปิด2นิคม"สมุทรสาคร"ฉีดวัคซีนในโรงงาน