“อองซาน ซูจี” หญิงเหล็กเมียนมา นักสู้ประชาธิปไตย

01 ก.พ. 2564 | 05:25 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2564 | 05:48 น.

รู้จัก “อองซาน ซูจี” หญิงเหล็กเมียนมา สัญลักษณ์ความเป็นนักสู้แห่งประชาธิปไตย

“อองซาน ซูจี” ชื่อที่ใครๆต่างพูดถึงกันมากที่สุดเวลานี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2532 สถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุของประเทศเมียนมา ภายใต้กฎอัยการศึกนางซูจีถูกสั่งกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านพักนับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2532 กำหนดเวลาไว้ 3 ปี ก่อนจะขยายเวลาออกมาเป็น 6 ปี

 

ระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2533 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของนางอองซาน ซูจี ซึ่งเธอนั่งเป็นหัวหน้าพรรคอยู่นั้น ได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งทั้งประเทศ 59% และได้ที่นั่ง 81%  หรือ 392 จาก 485 ที่นั่งในรัฐสภา

 

อองซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพถูกปล่อยตัวออกจากบ้านพักครั้งแรกในปี 2538 หลังจากที่เธอประกาศผ่านสื่อมวลชนทั้งในเมียนมาและสื่อนานาชาติว่า จะมอบเงินรางวัลจำนวน 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับจากการได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากคณะกรรมการโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์ เพื่อให้รัฐบาลใช้จัดตั้งกองทุนสุขภาพและการศึกษาของประชาชนเมียนมา อย่างไรก็ดี ไม่พบหลักฐานการโอนเงินรางวัลดังกล่าวจากเธอเข้ากองทุนฯแต่อย่างใด

 

ชีวิตของนางซูจีนับจากนั้นก็วนเวียนเข้าๆออกๆ กับการถูกกักบริเวณ (ที่บ้านพักของเธอเอง) อีกหลายครั้ง โดยรอบสองเป็นการกักบริเวณ 18 เดือนเริ่มในปี 2543 หลังการปราศรัยปลุกระดมมวลชนที่สนับสนุนเธอให้ต่อสู้เพื่อล้มรัฐบาลทหาร หลังจากนั้นก็มีการปล่อยตัวราวกลางปี 2545 ก่อนจะถูกสั่งกักบริเวณอีกครั้งในปี 2546 เนื่องจากระหว่างเดินทางพบปะประชาชนในเมืองเดพายินทางตอนเหนือของเมียนมา นางซูจีได้ปราศรัยปลุกระดมทำให้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มมวลชนที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม  นางซูจีจึงถูกสั่งกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านพักอีกเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2546 และได้รับการปล่อยตัวจากรัฐบาลทหารพม่าเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553  

 

ในวันที่ 1 เมษายน 2555 พรรค NLD ได้ประกาศว่า เธอได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนในสภา "ปีตูลุ้ดดอ" (Pyithu Hluttaw) หรือสภาล่างของรัฐสภาพม่า โดยนางซูจีได้เป็น ส.ส. ของเขตเลือกตั้งกอว์มู (Kawhmu) พรรคของเธอยังได้ที่นั่ง 43 จาก 45 ที่นั่งในสภาล่าง โดยการยืนยันผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีขึ้นอย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้น

 

ในห้วงเวลาเดียวกันนั้น อองซาน ซูจี ยังได้ตระเวนเดินทางออกนอกประเทศทั้งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ เพื่อไปรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วยตนเอง ทั้งยังได้มาเยี่ยมเยียนแรงงานเมียนมาที่จังหวัดสมุทรสาครระหว่างเข้าร่วมประชุมสภาเศรษฐกิจโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งจัดที่ประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2555     

 

กลางปี 2556 นางซูจี ประกาศบนเว็บไซต์ของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมว่า เธอต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2558 และในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรค NLD ได้คะแนนเสียงทั้งประเทศ 86% (255 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรและ 135 ที่นั่งในสภาเชื้อชาติ) แต่เธอในฐานะหัวหน้าพรรค NLD ถูกห้ามไม่ให้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเนื่องจากมีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้โดยปราศจากการรับรองจากสมาชิกสภานิติบัญญัติทหารอย่างน้อยหนึ่งคน

 

อองซาน ซูจี เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2488 ณ ย่างกุ้ง ซึ่งขณะนั้นเมียนมาในชื่อประเทศพม่ายังตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เธอเป็นลูกคนเล็กและเป็นบุตรสาวคนเดียวของครอบครัว บิดา คือ นายพลอองซาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น ช่วยให้ญี่ปุ่นยึดพม่าจากสหราชอาณาจักรได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองโดยมีข้อแลกเปลี่ยนกับญี่ปุ่นให้แต่งตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม นายพลอองซานถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2490 ขณะเธออายุได้ 2 ปี ต่อมาพี่ชายคนรองก็ประสบเหตุจมน้ำเสียชีวิตบริเวณบ้านพัก เธอกับพี่ชายคนโตจึงเติบโตมากับการดูแลของ นางดอว์ขิ่นจี ผู้เป็นแม่ และได้รับการดูแลภายใต้เครือข่ายอำนาจเก่าของผู้เป็นพ่อ อองซาน ซูจี สมรสกับ ไมเคิล อริส มีบุตรชาย 2 คน คือ อเล็กซานเดอร์ และคิม  

 

ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมียนมาประกาศ"ภาวะฉุกเฉิน"ทหารคุมประเทศ1ปี

คำพูดสะท้านแผ่นดิน "เมียนมา"

เมียนมารัฐประหาร ทหารคุมตัว"อองซาน ซูจี"

ตรึงเข้มชายแดนไทยสกัด“เมียนมา”ทะลักหลังรัฐประหาร

“รัฐประหารเมียนมา” ผบ.ทบ.สั่งกองทัพภาค 3 คุมเข้มชายแดนไทย