กสิกรไทย คาด 5 ปี ต้นทุน L/G ลดฮวบกว่า 1 พันล้านบาท หลังต้อนผู้ประกอบการใช้ระบบออนไลน์บนบล็อกเชน ช่วยหั่นเวลาวางหนังสือเหลือครึ่งวัน จากปกติ 9 วัน เชื่อธปท.อนุมัติออกจาก Sandbox ต้นปี 2561
นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารได้ทดสอบนำนวัตกรรมทาง การเงินผ่านบริการหนังสือคํ้าประกัน (L/G) บนเทคโนโลยีบล็อกเชน เข้าไปทดลองใน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับพันธมิตรเบื้องต้น 4 ราย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้า ส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บริษัท พีทีที โกล บอล เคมิคอลฯ (PTTGC) และบริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นต้น ซึ่งภายหลังการทดลองปัจจุบันพบว่าช่วยลดระยะเวลาในการออกหนัง สือจากเดิมใช้เวลา 9 วัน เหลือเพียงครึ่งวันเท่านั้น ซึ่งช่วยลดระยะเวลาให้ผู้ประกอบการได้ค่อนข้างมาก
[caption id="attachment_74754" align="aligncenter" width="334"]
ศีลวัต สันติวิสัฎฐ์[/caption]
หากคำนวณต้นทุนการออก L/G แบบปกติจะมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 2,000 บาทต่อฉบับ แต่หากสถาบันการเงินเปลี่ยนวิธีการออก L/G ไปสู่ระบบเทคโนโลยีบล็อกเชนได้ทั้งหมด ธนาคารประเมินว่าจะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการ เหลือเพียงต้นทุนของระบบดิจิตอล หรือคิดเป็น 1 ใน 5 เท่านั้น โดยคาดการณ์ว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า จะช่วยลดต้นทุนได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนทั้ง 2 ขา ทั้งในส่วนของผู้ประ กอบการและสถาบันการเงินผู้ออก L/G ที่จะประหยัดต้นทุนในสัดส่วนเท่ากันราว 50%
ขณะที่ปริมาณธุรกรรมการออกหนังสือ L/G ของทั้งระบบในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีการออก L/G มูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปีนี้มูลค่าจะเพิ่มเป็น 1.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นการเติบโตประมาณ 8% โดยธนาคารกสิกรไทยมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) คิดเป็น 1 ใน 5 ของมูลค่าทั้งระบบ หรือประมาณ 20%
อย่างไรก็ตามคาดว่าภายในปี 2561 ส่วนแบ่งมาร์เก็ตแชร์จะเพิ่มเป็น 23% สอดคล้องกับปริมาณธุรกรรมการออกหนังสือคํ้าประกันที่คาดว่าจะเติบโตสูงกว่า 8% ตามทิศทางการลงทุนของโครงการภาครัฐ และปริมาณการซื้อขายระหว่างลูกค้ากับดีลเลอร์ โดยสัดส่วนการใช้จะเป็นการขอ L/G เพื่อประมูลโครงการประมาณ 50% และที่เหลืออีก 50% จะเป็นการออก L/G เพื่อซื้อสินค้า
นายศีลวัตกล่าวว่า ธนาคารคาดว่าภายในต้นปี 2561 ธปท.น่าจะอนุมัติให้ L/G บนบล็อกเชนออกจากการทดสอบใน Sandbox ได้ หลังจากนั้นหากมีผู้ที่สนใจมาเชื่อมระบบดังกล่าวสามารถทำได้ไม่ต้องอนุญาตธปท.แล้ว ซึ่งตอนนี้มีผู้ที่สนใจร่วมทดสอบเชื่อมระบบกับธนาคารประมาณ 10 ราย โดยเป็น สถาบันการเงินประมาณ 3-4 แห่ง และที่เหลือเป็นผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการนำนวัตกรรมเข้าไปทดสอบใน Sandbox เพิ่มเติมอีก 1-2 บริการ ซึ่งจะเป็นบริการที่มุ่งเน้นเพิ่มความสะดวกในการให้บริการลูกค้าในส่วนของธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
ธนาคารยังร่วมมือกับ 4 FinTech ในการให้บริการด้านการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเชื่อมโยง 40 ประเทศ ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่าน มา พบว่าผลตอบรับค่อนข้างดี รวม ถึงปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นจากหลัก ร้อยรายการ เป็นหมื่นรายการต่อเดือน วงเงินเฉลี่ยในการทำธุรกรรมโอนเงินอยู่ที่ 1,000-1 หมื่นบาทต่อรายการ เบื้องต้นเปิดให้บริการ 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,305 วันที่ 15 - 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560