การประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ล็อตใหญ่ ในสนามบินหลักของบริษัทท่าอากาศ ยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.สัญญา 10 ปี ก็ตกเป็นของ “กลุ่มคิงเพาเวอร์” ตามคาด ด้วยคะแนนอันดับ1 (ตารางประกอบ)
กินรวบพื้นที่ 4 หมื่นตร.ม.
เบ็ดเสร็จการประมูลรอบนี้คิงเพาเวอร์ ได้พื้นที่กว่า 4 หมื่นตร.ม.ไปครอง เป็นส่วนของดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิ 1.2 หมื่นตร.ม. พื้นที่ร้านค้า 1.95 พันตร.ม. และดิวตี้ฟรี 3 สนามบินภูมิภาค (สนามบินภูเก็ต, สนามบินเชียงใหม่, สนามบินหาดใหญ่) พื้นที่ 2 พันตร.ม. ในนาม “บริษัทคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด”
รวมไปถึงยังได้สัญญาการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ (รีเทล)สนามบินสุวรรณภูมิ อีก 2.4 หมื่นตร.ม. ในนาม “บริษัทคิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด” ที่ได้ 95 คะแนนแซง “บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็นที่อยู่ที่ 80 คะแนนอีกด้วย
การประมูลดิวตี้ฟรีรอบนี้เจ้าถิ่นอย่างคิงเพาเวอร์ นอนมาก็ว่าได้ จากความได้เปรียบคู่แข่งอีก 2 ราย ที่เข้ามาลงสนามเป็นครั้งแรก ที่แม้จะผนึกแบรนด์ ดิวตี้ฟรีระดับโลก ที่เป็นเบอร์ 1 อย่างแบรนด์ “DUFRY” และเบอร์ 2 อย่าง “ล็อตเต้” ของโลกเข้ามาร่วมชิงประมูลก็ตาม
ทอท.กินค่าต๋งเพิ่มอีกเท่าตัว
ความได้เปรียบแรกอยู่ที่เกณฑ์การให้คะแนนที่ด้านเทคนิคคิดเป็นสัดส่วน 80 % และคะแนนราคา 20% ซึ่งแน่นอนว่าจากดาต้าเบสท์ที่คิงเพาเวอร์ ทำธุรกิจในสนามบินมากว่า 10 ปี และคอนเนกชันที่มีมาอย่างยาวนาน แผนธุรกิจที่เกิดขึ้นเรียกได้ว่ามองตาก็รู้ใจอยู่แล้วว่าทอท.ต้องการอะไร และอีกเหตุผลคือคิงเพาเวอร์เป็นบริษัทคนไทย 100% การยกเว้นภาษีสินค้าปลอดอากร หรือแม้แต่การจัดเก็บภาษีของกรมศุลกากร ก็จะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า
ส่วนคะแนนราคา คิงเพาเวอร์ทุ่มสุดตัว เพื่อรักษาฐานที่มั่น เพราะไม่เพียงเป็นเรื่องของหน้าตา แต่ยังเป็น Core Business ที่สร้างตัวทำให้คิงเพาเวอร์ มียอดขายติดอันดับ 7 ของโลกอย่างทุกวันนี้ ทำให้คิงเพาเวอร์ทุ่มเสนอผลตอบแทนขั้นตํ่าที่สูงเหนือความคาดหมาย โดยจ่ายในลักษณะขั้นบันได ในช่วงปีแรกๆ จ่ายอยู่ที่ 20% จากยอดขาย ไล่ไปจนถึง 40% จากยอดขายในช่วงปีหลังๆ ซึ่งนับว่าสูงกว่าผลตอบแทนขั้นตํ่าของคิงเพาเวอร์ ในสัญญาเดิมที่เสนอผลตอบแทนขั้นตํ่า 15% ถึงสูงสุด 20%
ดังนั้นตามสัญญาใหม่ไม่เพียงทอท.จะมีรายได้จากส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากปัจจุบันทอท.มีรายได้จากส่วนแบ่งผลประโยชน์รายได้อยู่ที่ 1.67 หมื่นล้าน ที่ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากสัมปทานพื้นที่ รีเทล และดิวตี้ฟรีใน 4 สนามบิน ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มคิงเพาเวอร์ ทั้งยังลดข้อครหาได้ส่วนหนึ่งที่ก่อนหน้าสมาคมค้าปลีกตั้งข้อสังเกตจากจ่ายผลตอบแทนของคิงเพาเวอร์ที่ตํ่ากว่าดิวตี้ฟรีอื่นๆในสนามบินของประเทศเพื่อนบ้านที่เขาจ่ายกันอยู่ที่ราว 40%
อีกทั้งแม้ว่ารายได้ดิวตี้ฟรี 82% จะอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนอีกราว 17.99% อยู่ที่สนามบินภูเก็ตรวมสนามบินเชียงใหม่ และอยู่ที่สนามบินหาดใหญ่ 0.04% แต่อย่าลืมว่าในอนาคตทอท.ก็ยังมีแผนขยายสนามบินภูมิภาคเหล่านี้ จึงไม่แปลกที่คิงเพาเวอร์ จะยังคงรักษาฐานที่มั่นนี้อยู่
จ่อชิงประมูลอีก 2 โครงการ
งานนี้ยังไม่จบลงแค่นี้ เพราะจุดปักธงต่อไปของคิงเพาเวอร์ ยังอยู่ที่การประมูลจุดรับส่งสินค้าดิวตี้ฟรี (pick up counter) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงดิวตี้ฟรีที่สนามบินดอนเมือง ที่เหลืออีก 3 ปีจะหมดสัญญา นับจากเริ่มโครงการเมื่อปี 2555 แน่นอนว่าทั้ง 2 โครงการนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้าดูฟรี รอยัล ออคิด และล็อตเต้ ก็จับจ้องอยู่เช่นกัน
นายสมบัตร เดชาพานิชกุล รองประธานกรรมการ และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ กล่าวว่า คิงเพาเวอร์ พร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป เพราะมีประสบการณ์ในด้านนี้อยู่แล้ว โดยมองถึงการประมูลโครงการที่เหลือ คือ จุดรับส่งสินค้า (pick up counter) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และดิวตี้ฟรีสนามบินดอนเมือง ซึ่งขอประเมินสถานการณ์ก่อน แต่คาดว่าไม่น่าจะพลาด
การชนะประมูลที่เกิดขึ้น จึงเป็นแต้มต่อสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจดิวตี้ฟรีของคิงเพาเวอร์ ที่ภายใต้เป้าหมาย 5 ปี (ปี 2560-2564) ที่จะผลักดัน ยอดขายดิวตี้ฟรีจากอันดับ 7 ของโลก ราว 8 หมื่นล้านบาท ขยับมาเป็นอันดับ 5 ของโลก ภายใต้เป้าหมายยอดขายที่ 1.4 แสนล้านบาท
รายงาน โดย โต๊ะข่าวท่องเที่ยว
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3478 ระหว่างวันที่ 13 - 15 มิถุนายน 2562