เปิดใจ “โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯคนใหม่ กับพันธกิจผลักดันอุตสาหกรรมหนังสือสู่การเป็น Creative Economy พร้อมจัดตั้งศูนย์ให้บริการข้อมูลด้านลิขสิทธิ์หวังกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
การเติบโตถดถอยไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจสิ่งพิมพ์ทั้งระบบ ด้วยปัจจัยรอบด้านไม่ว่าจะเป็นความนิยมที่ลดลงจากการเข้าของดิจิทัล ดิสรัปต์ หรือสภาพเศรษฐกิจล้วนส่งผลกระทบ แต่วันนี้ธุรกิจยังต้องเดินหน้า เช่นเดียวกับการจัดงานมหกรรมหนังสือ หรือ Book Expo ที่ยังต้องเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่การเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน รวมถึงผู้คนในทุกระดับชั้นได้มีโอกาสในการสรรหาหนังสือดีๆ อ่าน แต่ยังบ่งบอกถึงการพัฒนาคนในอนาคตผ่านการอ่านหนังสือ แต่การจะผลักดันให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์แข็งแรงและก้าวเดินได้นั้น กลายเป็นความท้าทาย “โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ที่เพิ่งรับตำแหน่งใหม่เมื่อไม่นานนี้
โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ
“โชนรังสี” บอกกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมได้ตระหนักเห็นความสำคัญเรื่องของการยกระดับการอ่าน รวมทั้งมีความตั้งใจผลักดันวงการหนังสือให้เป็น 1 ในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของประเทศ และสิ่งสำคัญที่จะทำให้วงการหนังสือเกิดความคิดสร้างสรรค์ คือการทำให้ผู้อ่านทุกคนตระหนักถึงเรื่องปัญหาลิขสิทธิ์
“ในช่วงที่ผ่านมาสมาคมได้ยินบ่อยครั้งถึงปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยการลอกผลงานของผู้เขียนไปอ้างเป็นผลงานของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักพบบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Youtube, Facebook อื่นๆ สมาคมจึงตระหนักถึงปัญหาเรื่องนี้อย่างมาก เพราะหากเกิดการลอกเลียนผลงานบ่อยครั้ง ก็จะส่งผลให้นักเขียน นักครีเอตความคิดสร้างสรรค์ตัวจริงท้อ จนสุดท้ายนักเขียนไม่เกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ดังนั้นในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ สมาคมจะจัดตั้งศูนย์ให้บริการข้อมูลด้านลิขสิทธิ์กับสมาชิกของสมาคมอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของลิขสิทธิ์และเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน”
ขณะเดียวกันสมาคมได้วางแผนการพัฒนาสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือฯทั้งในรูปแบบระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นสมาคมจะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับสมาชิกผู้จัดพิมพ์ได้มีช่องการขายหลากหลายขึ้น ทั้งในรูปแบบงานอีเวนต์ และอี-คอมเมิร์ซ ภาพยนตร์ เพลง เช่น การจัดงาน มหกรรมหนังสือบนออนไลน์ เป็นต้น ขณะที่แผนระยะยาวสมาคมจะมุ่งเน้นความอยู่รอดแบบยั่งยืน โดยมุ่งเน้นให้ผู้จัดพิมพ์ ได้มีองค์ความรู้ทันต่อโลกยุคใหม่ พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง รวมทั้งผลักดันให้อุตสาหกรรมเกิดความคิดสร้างสรรค์
“ส่วนตัวเชื่อว่าหนังสือเป็นสื่อความบันเทิงที่มีต้นทุนตํ่าที่สุดและคุ้มค่า แม้ในปี 2540 จะเจอวิกฤติต้มยำกุ้งแต่หนังสือก็ยังอยู่รอดได้ ขณะที่ปีนี้อาจจะแตกต่าง เพราะนอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้วยังเจอเรื่องของ Digital Disruption เกิดขึ้นจึงทำให้สำนักพิมพ์ไม่สามารถขายหนังสือในรูปแบบเดิมได้ ดังนั้นทางสมาคมจึงอยากติดอาวุธให้สำนักพิมพ์ได้รู้จักการบริหารจัดการ เข้าใจลูกค้าและตามเทรนด์โลกให้ทัน เพราะสำนักพิมพ์ก็เหมือน นักธุรกิจ ทั้งนี้ในด้านภาพรวมของงานมหกรรมหนังสือปีนี้ สมาคมคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานราว 1.5 ล้านคนใกล้เคียงกับปีก่อน หรือมีเม็ดเงินสะพัดในงานกว่า 500 ล้านบาท”
วันนี้งานมหกรรมหนังสือระดับชาติจึงถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 24 ซึ่งในครั้งนี้มีหนังสือมากกว่า 10,000 ปกจาก 318 สำนักพิมพ์ 888 บูธ เข้าร่วมงานภายใต้แนวคิด “หนังสือดีมีชีวิต-Bring Content to Life” โดยหมวดหมู่หนังสือที่ได้รับความนิยมปีนี้ยังคงเป็นหนังสือประเภท หนังสือเด็ก และครอบครัว การสอบ พัฒนาตัวเอง ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และหนังสือวาย ที่กำลังมาแรง ส่วนไฮไลต์ของหนังสือที่โดดเด่นปีนี้คือหนังสือชีวประวัติ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษคู่แผ่นดิน, ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นต้น
หน้า 30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3511 ระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม 2562