ฟัง2ด้าน หนุน-ค้าน นอร์ธเทอร์มินัล‘สุวรรณภูมิ’

12 พ.ย. 2562 | 02:50 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2562 | 12:22 น.

 

        ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 64.71 ล้านคนต่อปี ขณะที่สนามบินมีศักยภาพการรองรับอยู่ที่ 45 ล้านคนต่อปี วันนี้จึงเกิดความแออัดเป็นอย่างมาก กับการแบกรับผู้โดยสาร ซึ่งเกินศักยภาพมากถึง 19.71 ล้านคน และจะต้องแบกรับเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง

โรดแมปใหม่ขยายสุวรรณภูมิ

      ตราบใดที่แผนขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 3 ที่มีไฮไลต์ใหม่ อย่างอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินัล) หลังที่ 2 ด้านทิศเหนือ ของสนามบิน หรือที่ทอท.เรียกว่า เทอร์มินัลส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ยังไม่บรรลุตามแผนแม่บทฉบับที่ทอท.ได้ปรับปรุงใหม่

เนื่องจากที่ผ่านมาถูกคัด ค้านอย่างหนักจาก 12 องค์กรวิชาชีพ ด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม รวมถึงอดีตผู้บริหารสนามบินและผู้มีส่วนร่วมในแผนแม่บทเดิม เพราะมองว่าเป็น เทอร์มินัล2ตัดแปะ เกิดขึ้นมาใหม่ ไม่เป็นไปตามแผนแม่บทเดิมที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2546

     ขณะที่ทอท.ก็ยืนยันว่า เทอร์มินัลจุดนี้ สามารถพัฒนาได้ และเป็นแนวทางที่จะแก้ไขความแออัดของสนามบินได้เร็วที่สุด ส่วนแผนการพัฒนาเทอร์มินัลด้านทิศใต้ก็ยังคงอยู่ในแผนแม่บทที่ปรับปรุงล่าสุดในครั้งนี้ ที่จะเพิ่มการรองรับผู้โดยสารขึ้นเป็น 150 ล้านคนจากแผนแม่บทเดิมที่วางไว้ที่ 120 ล้านคน

      โดยแผนสร้างเทอร์มินัลด้านทิศใต้ จะเป็นอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ที่จะไปสร้างในเฟส 5 ขณะที่แผนขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ที่เดิมเป็น 1 ใน 5 เฟสที่จะพัฒนา ก็ถูกตัดออกไปเป็นเอ็กซ์ตร้า เฟส  หรือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ยังสามารถขยายได้ในอนาคต เพราะทอท.มองว่าการขยายในส่วนดังกล่าว ปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ดีมานด์ผู้โดยสารแล้ว หากทอท.ผลักดันการสร้างนอร์ธเทอร์มินัล และการขยายอาคารผู้โดยสารทั้ง 2 ฝั่งจะมีผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสารในอาคารผู้โดยสาร ซํ้าเติมสถานการณ์ปัจจุบันประสบความแออัดมากอยู่แล้วให้แย่ไปกว่าเดิม

 

ฟัง2ด้าน หนุน-ค้าน  นอร์ธเทอร์มินัล‘สุวรรณภูมิ’


 

 

 

 

ฝ่ายค้านหนุนยึดแผนเดิม

       ดังนั้นเพื่อหาบทสรุป ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงสั่งให้ทอท.เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งผู้เห็นด้วยและ เห็นต่าง หากทอท.เห็นจำเป็นต้องสร้างก็ให้เสนอมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อผลักดันต่อไป ซึ่งคาดว่าทอท.จะชงแผนแม่บท ฉบับล่าสุดให้กระทรวงคมนาคม ภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อเสนอไปยังสภาพัฒน์พิจารณาต่อไป

         โดยกลุ่มที่คัดค้าน นำทีมโดย สามารถ ราชพลสิทธิ์วิศวกรผู้ร่วมจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ และ สมเจตน์ ทิณพงษ์อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ที่ต่าง ยืนกระต่ายขาเดียวว่าเทอร์มินัลตัดแปะที่เกิดขึ้นมาใหม่ เป็นการก่อสร้างที่ผิดไปจากแผนแม่บทเดิม ที่วางไว้โดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เพิ่มงบลงทุน กระทบหลุมจอดอากาศยาน เป็นการเพิ่มภาระ การจราจรให้กับฝั่งมอเตอร์เวย์ให้หนาแน่นขึ้นกว่าเดิม จึงยืนยันให้ขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันออก และขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันตก ก่อน แล้วไปสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ด้านทิศใต้ของสนามบิน  

       ทั้งเห็นควรว่าทอท.ควรจะดำเนินการพัฒนาตามแผนแม่บทเดิม ไม่ควรปรับเปลี่ยน โดยเร่งขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกก่อน เพราะออกแบบแล้วและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)แล้ว และให้เร่งก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ด้านทิศใต้ ฝั่งบางนาตราด และล่าสุดยังเตรียมจะเข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ เทอร์มินัล2 ตัดแปะหายนะ สุวรรณภูมิ?ที่จัดโดยคณะกรรมการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ ที่อิมแพ็ค ฟอรัม เมืองทองธานี

แอร์ไลน์หนุนทอท.เร่งขยาย

          ส่วนกลุ่มที่หนุนให้ทอท.เร่งขยายสนามบิน ส่วนใหญ่จะเป็นมุมของฝั่งผู้ใช้บริการสนามบิน อย่างสายการบินต่างๆ

หลุยส์ มอร์เซอร์

         นายหลุยส์ มอร์เซอร์ เลขาธิการคณะกรรมการ Airport Consultative Committee (ACC) ซึ่งเป็นกรอบหนึ่งในการทำงานของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(ไออาต้า) มองว่า ไออาต้า แนะ นำว่าสนามบินควรมีการปรับเปลี่ยนพิจารณาแผนแม่บทอย่างน้อยทุก 5 ปี ต้องดูกายภาพและคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารว่า เป็นไปตามคาดการณ์หรือไม่ ซึ่งเจ้าของสนาม บินต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ซึ่งประเด็นของสนามบินสุวรรณภูมิในปัจจุบัน คือ การพัฒนาแผนแม่บทช้ากว่าขีดจำกัดของการรองรับผู้โดยสาร ตอนนี้ก็อยู่ที่การพิจารณาแล้วว่าจะทำการปรับเปลี่ยนแผนแม่บทอย่างไร

ฮอร์สท์ โบห์ลิง

         ด้านนายฮอร์สท์ โบห์ลิง อดีตนายสถานีของสายการบินลุฟท์ฮันซ่า และเคยเป็นทีมชุดแรกๆ ที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ กล่าวว่าการก่อสร้างส่วนเทอร์มินัลส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ เป็นทาง ออกที่ดีที่สุด และเพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มในอนาคต ยังมีความจำเป็นต้องสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และ 4ภายในระยะเวลา 10 ปี หรืออาจจะเร็วกว่านั้น และควรจะมีการขยายการก่อสร้างในระยะที่ 3 ด้วยเช่นกัน

     ทั้งหมดเป็นมุมมองทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง กับทิศทางของทอท.ที่ฟันธงแน่นอนในการเดินหน้าลงทุนตามแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิฉบับล่าสุดที่เกิดขึ้น

 

รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,521 วันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2562