การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกสายการบินของโลกรวมถึงของไทยวันนี้ต่างกำลังอยู่ในสถานะจ่อปากเหว จากความต้องการในการเดินทางทางอากาศที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และจะชะงักงันเพิ่มขึ้น ตามระดับมาตรการของรัฐบาลในแต่ละประเทศที่ออกยาแรงมากขึ้น ในการจำกัดการเดินทาง เพื่อลดการแพร่ระบาด
ทั่วโลกระงับเที่ยวบิน90%
การแก้ปัญหาเฉพาะของทุกสายการบินทั่วโลก เพื่อลดขาดทุน รอให้รัฐบาลของแต่ละประเทศคุมการแพร่ระบาด เพื่อผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทาง และหลีกเลี่ยงการล้มละลายให้ช้าที่สุด คือ การลดค่าใช้จ่ายอย่างหนักหน่วง วันนี้เราจะเห็นสายการบินทั่วโลก ทยอยออกมาตรการหยุดบินชั่วคราว จอดพักเครื่องบิน เลย์ออฟ ลดเงินเดือน และลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนกันถ้วนหน้า ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้
ไม่ว่าจะเป็นสายการบินแควนตัส และเจ็ทสตาร์ ประกาศงดเที่ยวบินระหว่างประเทศไปถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 ลดเที่ยวบินในประเทศลง 60% จอดพักเครื่องบินร่วม 150 ลำ ทำให้พนักงานราว 3 หมื่นคนต้องหยุดงานชั่วคราว สิงคโปร์ แอร์ไลน์ ลดเที่ยวบินราว 94% ถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ จอดพักเครื่องบิน 185 ลำจากทั้งหมด 196 ลำ เอมิเรตส์ จากเดิมที่จะระงับเที่ยวบินต่างประเทศทั้งหมด แต่หลังจากได้รับการร้องขอจากรัฐบาล จึงลดเที่ยวบินลง 70% คงการบินเหลือเพียง 13 จุดบินรวมถึงจุดบินเข้าไทย และลดเงินเดือนพนักงาน 25-30% เป็นเวลา 3 เดือน
ส่วนออล นิปปอน แอร์เวย์ ลดเที่ยวบินระหว่างประเทศ 80% ในช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ เวียดนาม แอร์ไลน์ส จอดเครื่องบิน 50% จากจำนวนฝูงบินกว่า 100 ลำ สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค และคาเธ่ย์ ดรากอน ลดจำนวนที่นั่งผู้โดยสารลง 96% ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมนี้ และจัดตารางบินโดยสารเท่าที่จำเป็น โดยยังคงเที่ยวบินขนส่งสินค้าในบริการเท่าเดิม
ขณะที่สายการบินของไทย ก็ทยอยระงับเส้นทางบินระหว่างประเทศชั่วคราวต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มีผลปลายเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ เริ่มจากไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ยกเลิกบินทุกเส้นทางบินเป็นสายการบินแรก ตามมาด้วยไทยไลอ้อนแอร์ ไทยเวียตเจ็ท ไทยแอร์เอเชีย นกสกู๊ต ไทย สมายล์ นกแอร์ ส่วนการบินไทย ทยอยยกเลิกเที่ยวบินเกือบทั้งหมดยาวไปถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้
เฉลี่ยแล้วสายการบินทั่วโลกต่างทยอยลดเที่ยวบินและระงับการบินในเส้นทางระหว่างประเทศมากถึง 80-95% แต่ยังคงไว้เฉพาะการขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมถึงใช้วิธีการเปิดบินในลักษณะเที่ยวบินเช่าเหมาลำแทน ซึ่งจะได้จำนวนผู้โดยสารที่แน่นอนกว่า ที่จะทำการบินแบบเที่ยวบินประจำที่ส่วนใหญ่มีผู้โดยสารไม่ถึง 10-20%
เฉพาะในไทย ทั้ง 6 สนามบินหลักของไทยในสังกัดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. มีสายการบินทั้งไทย-เทศยกเลิกเที่ยวบินไปแล้วและยกเลิกเที่ยวบินล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง เฉพาะตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม-28 มีนาคม 2563 มีเที่ยวบินยกเลิก 3.29 หมื่นเที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 2.6 หมื่นเที่ยวบิน และเที่ยวบินในประเทศ 6.3 พันเที่ยวบิน
ตัวเลขดังกล่าว เป็นข้อมูล ณ วันที่ 3 มีนาคม 2563 แต่นับจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ออกกฎคุมการเดินทางล่าสุดที่เข้มขึ้น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา รวมถึงมาตรการที่เข้มข้นของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทำให้จากนี้ การยกเลิกเที่ยวบินก็ทยอยเพิ่มมากขึ้นเกือบจะ 70% แล้วสำหรับเส้นทางบินต่างประเทศ
ใช้2แสนล.ดอลล์ฟื้นฟู
ความสูญเสียของธุรกิจการบินในครั้งนี้ ทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ออกมาประเมินความสูญเสียของสายการบินทั่วโลกแล้วว่าน่าจะเกินกว่า 1.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปแล้ว หรือ 3.7 ล้านล้านบาท) และคาดว่าจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6.59 ล้านล้านบาท เพื่อที่จะฟื้นฟูกิจการสายการบินต่างๆ
ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างมากที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาอุ้มสายการบินของประเทศตัวเองเพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเสริมสภาพคล่อง หรือมาตรการทางภาษี ควบคู่กับการช่วยเหลือตัวเองของสายการบินต่างๆ อยู่ในขณะนี้ ซึ่งขณะนี้ชัดเจนว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะช่วยเหลือสนับสนุนสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส, อเมริกัน แอร์ไลน์ส, เดลต้า แอร์ไลน์ส ในการสนับสนุนเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 1.6 ล้านล้านบาท
ด้านสายการบินในเอเชีย ล่าสุดสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ก็จ่อเพิ่มทุน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.45 แสนล้านบาท โดยหุ้นใหญ่อย่างเทมาเส็ก ที่่ซัพพอร์ตโดยรัฐบาลสิงคโปร์ ส่วนการบินไทยที่ย้ำแย่หนัก กระทรวงการคลัง ก็แจงชัดว่าพร้อมสนับสนุนเม็ดเงิน แต่ต้องรอแผนแก้ปัญหาที่บริษัทต้องเสนอขึ้นมาในอีก 2 สัปดาห์นี้
สายการบินไหนที่รัฐบาลไม่อุ้มก็คงหนีไม่พ้นการล้มละลาย ไม่ต่างจากสายการบินฟลาย บี ของอังกฤษ ที่เพิ่งล้มไป จากวิกฤติขาดสภาพคล่องที่เกิดขึ้นกันถ้วนหน้า ที่อย่างน้อยต้องรับสภาพไปอีกไม่ตํ่ากว่า 3-6 เดือนจากนี้
รายงาน: ธนวรรณ วินัยเสถียร
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน 2563