7 สายการบินขอคลังอัดฉีดซอฟต์โลน1.6หมื่นล.

30 มี.ค. 2563 | 06:03 น.
อัปเดตล่าสุด :13 เม.ย. 2563 | 11:24 น.

7 สายการบินของไทยร้องกระทรวงคลังช่วยเหลือสายการบิน วงเงินซอฟต์โลน 16,000 ล้านบาท นำไปเสริมสภาพคล่อง ช่วงการยกเลิกเที่ยวบินจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ทั้งนี้7สายการบิน ประกอบไปด้วยไทยแอร์เอเชีย ,นกแอร์ ,ไทยเวียตเจ็ท, บางกอกแอร์เวย์ส ,ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, ไทยสมายล์, ไทยไลอ้อนแอร์

    นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในวันนี้ (30 มีนาคม 2563) ผู้ประกอบการสายการบินของไทย จำนวน 7 สายการบินได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอสนับสนุนซอฟต์โลน วงเงิน 16,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ผ่อนชำระเป็นเวลา 24 เดือน
          การขอรัฐบาลสนับสนุนซ็อฟโลนในครั้งนี้ จะนำมาเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ และประคองการจ้างงาน กรณีที่สายการบินต่างๆต้องหยุดทำการบินชั่วคราวในช่วงนี้ จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในขณะนี้กระทรวงการคลังได้รับข้อเสนอของทั้ง 7 สายการบินแล้ว และจะมีการนำไปหารือในครม.เศรษฐกิจต่อไป
       จากการหารือนอกรอบผมมองว่ารัฐบาลน่าจะช่วยเหลือธุรกิจสายการบิน เพราะเมื่อไหร่ที่ไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย การจะฟื้นให้การท่องเที่ยวกลับมาโดยเร็ว สายการบินต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อให้อยู่รอดในช่วงนี้ เพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยฟื้นได้เร็ว มีสายการบินเหลือรอดอยู่ให้บริการ โดยซอฟต์โลนก้อนนี้เราขอเป็นวงเงิน  แล้วสายการบินจะมาดำเนินการงานจัดสรรกันเอง ว่าแต่ละสายการบินต้องการเงินกู้เท่าไหร่ 7 สายการบินขอคลังอัดฉีดซอฟต์โลน1.6หมื่นล.
         

นายธรรศพลฐ์ ยังกล่าวต่อว่าก่อนที่สายการบินจะตัดสินใจยื่นขอรับความช่วยเหลือจากกระทรวงการคลัง ได้มีการหารือร่วมกันแล้ว ได้ข้อตกลงร่วมกันว่าทั้ง 7 สายการบิน ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย ,นกแอร์ ,ไทยเวียตเจ็ท, บางกอกแอร์เวย์ส ,ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, ไทยสมายล์, ไทยไลอ้อนแอร์ ส่วนนกสกู๊ต ไม่ได้เข้าร่วม ส่วนการบินไทย ปัญหาจะซับซ้อนกว่า เขาก็แยกไปดำเนินการของเขาเอง
            สำหรับสายการบินไทยแอร์เอเชีย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ก็จะหยุดทำการบินทุกเส้นทาง100% เนื่องจากผู้โดยสารน้อย กระแสเงินสดลดลงไปมาก จากจำนวนผู้โดยสารที่น้อยมากเกินกว่าจะทำการบินได้ ซึ่งก็เป็นปัญหาเหมือนกันทุกสายการบิน  บริษัทต้องการให้ทางภาครัฐสนับสนุนวงเงินซอฟท์โลน และ ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้
       นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินเดือนที่ลดลงของผู้บริหารระดับสูง และ พนักงานระดับอาวุโส ตลอดจนการหยุดบินชั่วคราวสามารถลดค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย ค่าชั่วโมงบิน ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา
       

อย่างไรก็ตามผมมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นยังอยู่เพียงแค่ขั้นเริ่มต้นเท่านั้น เพราะยังไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เราก็ต้องประเมินต่อว่าจะกลับมาบินได้ช่วงไหนเช่นกัน  การหยุดบินชั่วคราวก็ทำให้สายการบินต้องจอดเครื่องบินหมดทั้ง 63 ลำไว้ที่สนามบินดอนเมืองและอีกหลายที่ในช่วงนี้ ธรรศพลฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

7 สายการบินขอคลังอัดฉีดซอฟต์โลน1.6หมื่นล.

สำหรับผลการดำเนินงานของAAVในปีนี้อาจไม่ได้ตามเป้าหมายที่เคยวางไว้ว่า ปีนี้จะพลิกกับมามีกำไร จากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 474 ล้านบาท และ รายได้รวมปี 62 อยู่ที่ 41,553.10 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากสถานการณ์ต่างๆ กลับมาดีขึ้นก็จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบินทั้งหมด ไม่ใช่แค่ AAV แต่เพียงรายเดียว